เคาะค่าไฟฟ้าปีละ 1 ครั้ง เปิดยุทธศาสตร์ "เทพรัตน์" ผู้ว่า กฟผ.คนใหม่

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เคาะค่าไฟฟ้าปีละ 1 ครั้ง เปิดยุทธศาสตร์ "เทพรัตน์" ผู้ว่า กฟผ.คนใหม่

Date Time: 21 มี.ค. 2567 05:30 น.

Summary

  • ผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” เสนอยุทธศาสตร์ เคาะราคาค่าไฟฟ้าปีละ 1 ครั้ง เพื่อลดค่าใช้จ่ายของประชาชน ชี้ค่าเอฟที นิ่ง ต่ำ นาน สร้างความเชื่อมั่น หนุนคงค่าไฟฟ้าเดือน พ.ค.-ส.ค. ที่ 4.18 บาท/หน่วย แบ่งชำระคืนต้นทุนคงค้างให้ กฟผ. 7 งวด เพื่อให้สามารถบริหารสภาพคล่องได้

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนใหม่ (คนที่ 16) เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินงานของ กฟผ. และแนวทางการบริหารงาน ว่า ระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน ในฐานะผู้ว่าการ กฟผ. จะเร่งเดินหน้า 5 ภารกิจสำคัญ คือ 1.รักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้า 2.บริหารจัดการค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมและแข่งขันได้ 3.ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศ 4.ดำเนินการตามนโยบายภาครัฐ และ 5.เป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐ

“ผมจะทำให้ กฟผ.เป็นกลไกของรัฐบาลเพื่อดำเนินนโยบายด้านพลังงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศ ในช่วงที่ประเทศไทยเดินหน้า เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ด้วยการเพิ่มสัดส่วน การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบไฟฟ้า ต้องมีประสิทธิภาพและความมั่นคงสูง พร้อมส่งต่อไฟฟ้าที่มีคุณภาพไฟไม่ตก ไม่ดับ ควบคู่กับการดูแลค่าไฟฟ้าให้สามารถแข่งขันได้และเป็นธรรม เพื่อเป็นปัจจัยดึงดูดนักลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ”

นอกจากนี้ อยากให้ภาครัฐพิจารณาปรับ รูปแบบการคำนวณค่าไฟฟ้า ของประเทศให้ต่ำและนิ่งกว่านี้ จากปัจจุบันค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) จะคำนวณตามต้นทุนเชื้อเพลิงทุกๆ 4 เดือน ทำให้ค่าไฟฟ้าขึ้นลงผันผวนกระทบต่อค่าครองชีพ ประชาชน การคำนวณต้นทุนของภาคเอกชน ซึ่งปกติเอกชนจะประเมินต้นทุน ที่สูงที่สุดของปีและเมื่อค่าไฟฟ้าถูกลง ก็ไม่ได้ลดราคาสินค้าลง ดังนั้น หากเป็นไปได้ควรกำหนดค่าไฟฟ้าให้ต่ำและนิ่ง อาจคำนวณทุกๆ 1 ปี เพื่อให้ทุกภาคส่วนรับรู้ต้นทุนระยะยาว เพราะราคาพลังงานมีปรับขึ้นลงเป็นปกติสามารถหักลบกัน เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับคนไทยทั้งประเทศแน่นอน

ขณะที่ในปัจจุบัน กฟผ.รับภาระค่าไฟแทนประชาชนอยู่ที่ 99,689 ล้านบาท คาดว่าค่าไฟฟ้างวดใหม่ เดือน พ.ค.-ส.ค.นี้ ที่อยู่ระหว่างรับฟังความเห็นจากประชาชนจะสรุปตัวเลขที่ 4.18 บาทต่อหน่วย โดย กฟผ.จะได้เงินคืน 7 งวด งวดละ 14,000 ล้านบาท หรือ 20.51 สตางค์ (สต.) ต่อหน่วย และคาดหวังอัตราค่าไฟฟ้าหลังจากนี้ กฟผ.จะได้เงินคืนรูปแบบนี้ทั้ง 7 งวด เพื่อบริหารสภาพคล่อง กฟผ. โดยปีนี้ กฟผ.ตั้งงบลงทุนไว้ที่ประมาณ 30,000 ล้านบาท ที่จะเน้นลงทุนปรับปรุงระบบสายส่ง และโซลาร์ลอยน้ำ ซึ่งปัจจุบัน กฟผ.มีสัดส่วนผลิตไฟฟ้าประมาณ 30% ของการผลิตทั้งประเทศ

สำหรับข้อเสนอ NET METERING หรือ ระบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ตามจริง จากการผลิตไฟฟ้าที่ได้จากโซลาร์เซลล์หักลบกับไฟที่ใช้จากการไฟฟ้าในมุมของ กฟผ.มองว่ายังไม่ใช่ระบบที่เหมาะสมกับไทยในขณะนี้ เพราะจะเป็นภาระกับประชาชนทั่วไป ที่ไม่ได้ติดตั้งโซลาร์ แต่กลุ่มนี้ต้องรับภาระการลงทุนระบบไฟฟ้าทั้งหมด เพราะสุดท้ายหากผู้ใช้ NET METERING เกิดปัญหาก็ต้องกลับมาใช้ไฟจากระบบสายส่งหลัก แต่ไม่ต้องรับภาระส่วนนี้

นอกจากนี้ กฟผ.ยังให้ความสำคัญในการออกแบบระบบไฟฟ้าของประเทศเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศ ทั้งการเดินหน้าพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ ไฮบริดในเขื่อนของ กฟผ. และศึกษาพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือก อื่นๆ โดยเฉพาะไฮโดรเจนที่เป็นได้ทั้งเชื้อเพลิงเผาไหม้เหมือนก๊าซธรรมชาติ และเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) รวมถึงมีแนวโน้มราคาที่ถูกลง โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดยังสามารถนำไฮโดรเจน มาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมในโรงไฟฟ้าของ กฟผ.ที่มีอยู่เดิม โดยไม่ต้องปรับปรุงโรงไฟฟ้า รวมถึงศึกษาและนำเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอนมาใช้ด้วย

สำหรับกรณีนโยบายแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator) ให้โปร่งใส เป็นธรรม กฟผ.ในฐานะหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน ต้องดำเนินการตามนโยบายภาครัฐ ในเบื้องต้นต้องพัฒนาปรับปรุงการควบคุมระบบไฟฟ้า ให้มีความมั่นคง ทันสมัย พร้อมรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน สามารถควบคุมสั่งการระบบผลิต ระบบส่ง ให้ตอบสนองความผันผวน และเหตุสุดวิสัยแบบอัตโนมัติ มีประสิทธิภาพ.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ