นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 มี.ค.67 ราชกิจจานุเบกษา ได้ออกประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่องการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2567 โดยกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 ต้องรายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง ต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ทราบภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการบันทึกบัญชีรายวันนั้น สนพ.จะดูข้อมูลร่วมกับ ธพ. เพราะปัจจุบันราคาต้นทุนของ สนพ.กับของคู่ค้าน้ำมันไม่ตรงกัน จึงต้องดูว่าต้นทุนคู่ค้าเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามปรับโครงสร้างราคาน้ำมันให้สะท้อนต้นทุนของผู้ประกอบการและความเป็นธรรมของผู้ใช้น้ำมัน
สำหรับความคืบหน้าการปรับปรุงแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan 2024) ปี 2567-2580 คาดว่า จะประกาศใช้ได้ในเดือนก.ย.นี้ โดยเดือน เม.ย.นี้ สนพ.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ 5 แผน ประกอบด้วย 1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 2.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3.แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ 5.แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ให้แล้วเสร็จ เพื่อผนวกไว้ในแผนพลังงานชาติ
“ตั้งใจจะเปิดประชาพิจารณ์ทั้ง 5 แผนไปพร้อมกันเลย โดยแผน PDP ต้องมีพลังงานหมุนเวียนกว่า 50% ในปี 2623 และจะยังคงมีตัวเลือก ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก 70 เมกะวัตต์ ไว้ในแผน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะช่วยศึกษาขนาดพื้นที่ร่วมกับสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย สิ่งสำคัญ คือ สร้างความเข้าใจและการรับรู้ที่ถูกต้องว่าพลังงานนิวเคลียร์สามารถบริหารจัดการได้ มีความปลอดภัย เกิดประโยชน์กับประเทศ ทั้งด้านความมั่นคง ราคา และสิ่งแวดล้อม”
ขณะที่การทำแผน PDP จะต้องดู 3 ส่วนหลัก คือ 1.ความมั่นคงด้านพลังงาน 2.ราคา 3.สิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้ได้กำหนดเพดานจากเป้าลดการปลดปล่อยคาร์บอนแล้ว จึงต้องดูว่าแต่ละปีจะลดได้เท่าไร การใส่โรงไฟฟ้าเข้าไปโดยนำพลังงานแสงอาทิตย์เข้าไปมากๆ ความมั่นคงจะหายไป จึงต้องดูว่า โรงไฟฟ้าใดพึ่งพาได้ตอนไหน อีกส่วนคือต้นทุน เมื่อใส่ไปจะทำให้ค่าไฟอยู่ระดับใด เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังต้องจัดเตรียมโรงไฟฟ้าเพื่อรับมือกับการใช้ไฟสูงสุด (พีก) ซึ่งปี 66 การใช้ไฟพีกวันที่ 6 พ.ค.66 เวลา 21.41 น. ที่ 34,827 เมกะวัตต์ และล่าสุดวันที่ 7 มี.ค.67 ใช้ไฟพีก 32,000 เมกะวัตต์ ใกล้จะชนพีกของปีก่อนแล้ว ดังนั้น ปีนี้อาจจะเห็นปริมาณสำรองไฟฟ้าลดลง ซึ่งมาจากหลายปัจจัย อาทิ 1.อุตสาหกรรมและประชาชนติดตั้งโซลาร์มากขึ้น 2.การชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี ) กว่า 85% ที่ชาร์จในเวลากลางคืน 3.การใช้ไฟฟ้ากลุ่มโรงแรมสูงขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว “พีกปีนี้น่าจะอยู่ช่วงกลางคืน และคาดอยู่ที่ 35,000 เมกะวัตต์ เพราะอากาศร้อนขึ้น มีการเปิดเครื่องปรับอากาศจำนวนมาก และการชาร์จไฟฟ้าของรถอีวี”
สำหรับความผันผวนของราคาน้ำมันนั้น กระทรวงพลังงานจะพยา ยามทำให้ผลกระทบเกิดกับประชาชนน้อยที่สุด ส่วนจะตรึงราคาต่อหรือไม่ต้องดูความเหมาะสม โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปีนี้อยู่ในช่วง 80-90 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จากปีก่อนเฉลี่ยที่ 82 เหรียญฯต่อบาร์เรล.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่