โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 67 ลงมาอยู่ที่ 2.8% จาก 3.1% ซึ่งประเมินเมื่อ ธ.ค.66 และคาดว่า ธปท.ได้สิ้นสุดวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นไปแล้วที่ 2.5% และ ธปท. มีแนวโน้มจะลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 67 ขณะที่สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 67 ลงเหลือ 2.3% จากเดิมมองไว้ที่ 3.1% โดยคาดว่าดอกเบี้ยนโยบายจะลดลง 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% เป็น 2% ในสิ้นปี และจะลดครั้งแรกในการประชุมเดือน เม.ย.
ขณะที่ล่าสุด กลุ่มงานศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (เอสซีบี อีไอซี) โดยนายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอสซีบี อีไอซี เปิดเผยว่า ได้ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 67 ลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3% เหลือ 2.7% หากเทียบกับประเทศอื่นในโลก พบว่าไทยขยายตัวช้ามากอยู่ในอันดับที่ 162 ของโลก หรือติดอันดับโตต่ำสุด 16 ประเทศของโลก และศักยภาพสูงสุดที่ประเทศไทยจะเติบโตได้เฉลี่ยในแต่ละปีลดต่ำลงอีกด้วย โดยจาก 19 ปีก่อน ศักยภาพการเติบโตของไทยอยู่ที่ 5% ปี 66 ลงมาอยู่ที่ 3% ส่วนปีนี้คาดว่าจะลดลงเหลือ 2.7% และมีแนวโน้มที่ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยอาจปรับลงได้อีก”
“เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังคงมีลักษณะโตช้า เปราะบาง และมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งจากภาคการผลิต ซึ่งมีปัญหาเชิงโครงสร้างจากการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่การผลิตและความต้องการสินค้าของโลกที่เปลี่ยนไปจากสิ่งที่ไทยผลิตมาต่อเนื่อง ทำให้เราเสียความสามารถในการแข่งขัน กระทบการส่งออก โดยพบว่าภาคผลิต 80% ใช้กำลังการผลิตต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศไม่ได้ดีอย่างที่คิด หากหักตัวเลขการใช้จ่ายนักท่องเที่ยวในประเทศออก จะพบว่าการขยายตัวของการใช้จ่ายทรงตัว โดยการใช้จ่ายของคนที่มีรายได้สูงเพิ่มขึ้น แต่คนที่มีรายได้น้อยใช้จ่ายลดลง ขณะที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัว โดยค่าจ้างที่แท้จริงของคนไทยหรือค่าจ้างลบกับค่าใช้จ่าย ยังอยู่ในภาวะติดลบ”
นายสมประวิณกล่าวต่อว่า แม้เงินเฟ้อไทยจะติดลบมาต่อเนื่อง แต่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับมาเป็นบวกได้ในเดือน พ.ค.นี้ ดังนั้นการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เป็นเรื่องจำเป็นต่อเศรษฐกิจไทย แม้ไม่ช่วยแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจได้ แต่ช่วยลดต้นทุนภาคธุรกิจ และสร้างบรรยากาศที่ดีในการลงทุน แม้การลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการบริโภคอาจไม่จำเป็น แต่มองว่าการลดดอกเบี้ยนโยบายจะเกิดขึ้นในครึ่งแรกของปีนี้ เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลางกลับมาอยู่ในระดับเหมาะสมกับเศรษฐกิจ โดยคาดว่า กนง.จะลดดอกเบี้ยเหลือ 2% จาก 2.5% สู่ 2.25% ในเดือน เม.ย. และมาที่ 2% ในเดือน มิ.ย.ซึ่งสอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจไทยที่ลดลง
สำหรับความเสี่ยงเศรษฐกิจในระยะต่อไป นอกจากปัญหาเชิงโครงสร้างแล้ว ยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง กระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชน และที่เป็นห่วงมากกว่าคือผลกระทบจากต่างประเทศต่อการส่งออกและการผลิตในประเทศ จากการแบ่งขั้วการเมืองของโลกที่รุนแรง ส่งผลให้เกิดการกีดกันทางการค้ามากขึ้น สงครามในตะวันออกกลางส่งผลต่อต้นทุนการขนส่ง และการเสียความสามารถในการอยู่ในห่วงโซ่การผลิตใหม่ของโลกในระยะยาวของไทย รวมทั้งการสูญเสียการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้หรือไม่นั้น มองว่าแรงส่งจากงบประมาณยังล่าช้าและมีเวลาเหลือให้ใช้จ่ายไม่มากในปีนี้ ขณะที่นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตยังมีความไม่แน่นอนสูงจึงไม่ได้ใส่ลงในการประมาณการเศรษฐกิจครั้งนี้.