นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ ในฐานะโฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า หนี้สาธารณะของไทยได้ทยอยปรับเพิ่มขึ้นหลังจากที่รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อนำมาใช้ในการดูแลเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องขยายกรอบการก่อหนี้ จากไม่เกิน 60% เป็นไม่เกิน 70% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ล่าสุด ระดับหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 62.23% ต่อจีดีพี แต่ในด้านความเสี่ยงการบริหารหนี้นั้น ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และอยู่ในกรอบวินัยด้านการคลัง
ทั้งนี้ หนี้สาธารณะโดยรวม 11.19 ล้านล้านบาทนั้น เป็นหนี้ระยะยาวถึง 85% อายุหนี้คงเหลือเฉลี่ยที่ 8 ปี 11 เดือน ซึ่งอยู่ในกรอบมาตรฐานที่กลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ที่กำหนดระยะเวลาเฉลี่ยของหนี้ต้องอยู่ที่ประมาณ 8 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี ขณะเดียวกันหนี้ที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศนั้นมีสัดส่วนเพียง 1.35% หรือประมาณ 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และส่วนใหญ่เป็นหนี้เงินกู้จากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ โดยกู้มาเพื่อทำโครงการรถไฟฟ้าต่างๆ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะยังอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง แต่หากว่าจีดีพีของประเทศปรับลดลง ก็มีแนวโน้มที่ระดับหนี้สาธารณะจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นได้ หลังจากที่สภาพัฒน์ ได้ประกาศปรับลดจีดีพีในปี 2566 ลงเหลือ 1.9% และปีนี้ 2.7% ก็จะทำให้ระดับหนี้สาธารณะปรับเพิ่มขึ้น โดย สบน.อยู่ระหว่างปรับตัวเลขในเดือน ก.พ.นี้.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่