ทอท.ดึงโมเดล “ชิโตเสะ” สู่ “สุวรรณภูมิ” ผุด “Bangkok Food Street” บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ทอท.ดึงโมเดล “ชิโตเสะ” สู่ “สุวรรณภูมิ” ผุด “Bangkok Food Street” บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์

Date Time: 7 มี.ค. 2567 08:25 น.

Summary

  • ทอท.เดินหน้ายกระดับการบริการเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสนามบิน ปิ๊ง!ไอเดียการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์สนามบินชิโตเสะ ยก “Soft Power” ร้านอาหารเด่นท้องถิ่น เอกลักษณ์พื้นบ้าน ขึ้นมาให้บริการผู้โดยสารที่สนามบิน นำร่อง “Bangkok Food Street” ให้บริการที่สนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนสยายปีกไปยังสนามบินภูมิภาคครบทั้ง 6 สนามบิน

Latest

ราคาที่แนวรถไฟฟ้าขยับขึ้น ธอส. ชี้ส่งสัญญาณธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เริ่มฟื้นตัว

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ทอท.ได้เดินทางไปศึกษาดูงานสนามบินชิโตเสะ เมืองฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะแนวทางการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งจากข้อมูลของสนามบิน ชิโตเสะ พบว่าการพัฒนาท่าอากาศยานนั้น ไม่ได้เน้นการมีผลการดำเนินงานที่ทำกำไรเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่จะเน้นทำให้ผู้โดยสารมีส่วนร่วมกับการใช้พื้นที่ภายในสนามบินให้มากที่สุด

“ทอท.จะยึดเป็นต้นแบบและนำมาประยุกต์การดำเนินการกับสนามบินที่อยู่ในกำกับของ ทอท.ทั้ง 6 สนามบิน “สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง สนามบินเชียงใหม่ สนามบินหาดใหญ่ สนามบินภูเก็ต และสนามบินเชียงราย” และสนามบินที่จะมีการโอนย้ายการกำกับจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) มายัง ทอท.ต่อไป”

ดึงโมเดล “ชิโตเสะ” สู่ “สุวรรณภูมิ”

ทั้งนี้ สำหรับสนามบินชิโตเสะ เป็นสนามบินหลักของเมืองท่องเที่ยวอย่างฮอกไกโด มีเที่ยวบินบินเข้าออกรวมกว่า 500 เที่ยวบินต่อวัน โดย แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 100 เที่ยวบินต่อวัน และเที่ยวบินในประเทศ 400 เที่ยวบินต่อวัน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุดถึง 65,000 คนต่อวัน ซึ่งสนามบิน ดังกล่าวเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง และหากจะเทียบสนามบินชิโตเสะกับสนามบินในไทย ก็จะคล้ายๆกับสนามบินภูเก็ต และสนามบินเชียงใหม่

สำหรับพื้นที่โดยรวมของสนามบินชิโตเสะมีพื้นที่ 320,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) แบ่งเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ประมาณ 70,000 ตร.ม. ประกอบไปด้วย โรงแรม, สปา, ออนเซ็น, โรงภาพยนตร์, ร้านค้า และร้านอาหาร กว่า 220 ร้าน รวมทั้งยังได้นำ “Soft Power” ของญี่ปุ่นมาจัดแสดงด้วย เช่น แอนิเมชันชื่อดัง โดเรมอน คิตตี้ รวมทั้งผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น นำโรงงานช็อกโกแลต Royce ชื่อดังมาจัดแสดงให้นักท่องเที่ยวได้เห็นได้สัมผัส เพื่อดึงดูดให้ไปดูสถานที่จริง ถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่นำอัตลักษณ์ของประเทศออกมาโชว์นักท่องเที่ยวได้เห็นตั้งแต่อยู่ในเทอร์มินอล

ต่อยอด Food Street ในสนามบินแห่งชาติ

นายกีรติกล่าวต่อว่า จากโมเดลของสนามบินชิโตเสะดังกล่าว ทอท.มีแผนจะนำมาต่อยอดและประยุกต์ใช้กับสนามบินสุวรรณภูมิ อาทิ การจัดทำพื้นที่ “Bangkok Food Street” โดยการนำร้านอาหาร ชื่อดังของกรุงเทพฯมาเปิดที่สนามบินสุวรรณภูมิ คล้ายกับที่สนามบินชิโตเสะ ที่มีพื้นที่โซน “ราเม็ง สตรีท” นำร้านราเม็งขึ้นชื่อของฮอกไกโด มาเปิดบริการ โดยตนมีแนวคิดที่จะนำมาอยู่ในพื้นที่ของโครงการสนามบินสุวรรณภูมิส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ที่มีพื้นที่รวมประมาณ 60,000 ตร.ม. ซึ่งโครงการส่วนต่อขยายทิศตะวันออกนี้คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2570 โดยนอกจาก “Bangkok Food Street” จะยังมีร้านค้า ร้านอาหารชั้นนำของไทยแล้ว ยังจะเพิ่มพื้นที่สำหรับเด็ก ร้านนวดแผนไทย และโรงแรมแบบเดย์รูม ทั้งรายวันและรายชั่วโมง เข้ามาให้บริการในพื้นที่ ดังกล่าวด้วย

“สนามบินสุวรรณภูมิมีพื้นที่ถึง 450,000 ตร.ม. มีปริมาณผู้โดยสารจำนวนมากกว่า 65 ล้านคนต่อปี ขณะที่สนามบินชิโตเสะมีผู้โดยสาร 18 ล้านคนต่อปี แต่มีพื้นที่มากถึง 320,000 ตร.ม. ซึ่งผู้โดยสารของสนามบินชิโตเสะน้อยกว่าสนามบินสุวรรณภูมิถึง 3 เท่า แต่มีพื้นที่น้อยกว่าแค่ 20% เท่านั้น ดังนั้น ควรที่จะบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น” นายกีรติกล่าว

ต้นแบบเก็บหิมะสู่หลังคาแสงอาทิตย์

นายกีรติกล่าวอีกว่า นอกเหนือจากการดูแลเรื่องการใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์ ยังมีเรื่องการใช้พลังงานอย่างประหยัด ซึ่งสนามบินชิโตเสะได้ดำเนินการในด้านการประหยัดพลังงาน โดยใช้การบริหารจัดการเก็บหิมะที่ได้กว่า 120,000 ลูกบาศก์เมตร นำมาใช้ผลิตความเย็นให้กับอาคาร ผู้โดยสารในช่วงฤดูร้อน ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ปีละ 20-30% ขณะที่ ทอท.ก็มีแผนประหยัดพลังงานและลดค่าใช้จ่าย โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ดำเนินการบนพื้นที่หลังคาอาคารผู้โดยสาร และอาคารต่างๆของสนามบินสุวรรณภูมิ รวมถึงพื้นที่บ่อน้ำและพื้นที่ด้านข้างทางวิ่ง (รันเวย์) ติดตั้งโซลาร์เซลล์สร้างจุดกักเก็บพลังงาน

ทั้งนี้ ทอท.มีเป้าหมายอยู่ที่ 60 เมกะวัตต์ภายใน 4 ปี เพื่อนำพลังงานมาใช้ในอาคารช่วง เวลากลางวัน โดยไม่ต้องซื้อพลังงานไฟฟ้าอีกต่อไป โดย ทอท.ร่วมกับบริษัท ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด (DCAP) ดำเนินโครงการระบบผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์และโซลาร์รูฟเริ่มใช้งานได้ตั้งแต่ ต.ค.2566 กำลังการผลิตเริ่มต้น 10 เมกะวัตต์ และจะขยายโซลาร์รูฟหลังคาลาน จอดรถ ทั้งลานจอดรถระยะยาวและลานจอดรถแท็กซี่ ซึ่งในขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน เม.ย.2567 สามารถเพิ่มกำลังการผลิตรวมเป็น 12 เมกะวัตต์

“ค่าใช้จ่ายในการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ถูกกว่าซื้อประมาณ 20% ซึ่งปกติสนามบินสุวรรณภูมิจ่ายปีละ 100 ล้านบาท ก็จะทำให้ประหยัดไป 20 ล้านบาท และพร้อมก้าวไปสู่เป้าหมาย Net Zero ส่วนสนามบินอื่นๆภายใต้การบริหารของ ทอท.ได้เริ่มสำรวจพื้นที่ ทั้งส่วนอาคาร ด้านข้างรันเวย์ และพื้นที่บ่อน้ำ เพื่อดำเนินการติดตั้งโซลาร์เซลล์ โดยมีเป้าหมายเหมือนกันคือ ภายใน 4 ปีจะผลิตไฟฟ้าให้ได้เพียงพอกับการใช้งานในเวลากลางวันของแต่ละสนามบิน โดยจะไม่มีการซื้อไฟฟ้าอีกแล้ว เช่น สนามบิน ดอนเมืองมีความต้องการใช้ 20 เมกะวัตต์ สนามบินภูเก็ตต้องการที่ 30 เมกะวัตต์” นายกีรติกล่าว.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ