ทำความรู้จัก ส.อ.ท.บทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ บนความท้าทายใหญ่ “สินค้าจีนถล่มไทย” ใครจะเข้ามาแก้?

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ทำความรู้จัก ส.อ.ท.บทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ บนความท้าทายใหญ่ “สินค้าจีนถล่มไทย” ใครจะเข้ามาแก้?

Date Time: 5 มี.ค. 2567 16:26 น.

Video

เศรษฐกิจไทย เสี่ยงวิกฤติหนักแค่ไหน เมื่อต้องเปลี่ยนนายกฯ | Money Issue

Summary

  • ศึกชิงประธาน ส.อ.ท. กับบทบาท สำคัญทางเศรษฐกิจ เข็มทิศอุตสาหกรรมไทย บนความท้าทายใหญ่ “สินค้าจีนถล่มไทย” ใครจะเข้ามาแก้? เปิดที่มา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน้าที่ผูกโยง ยุทธศาสตร์กับรัฐ “สมโภชน์ อาหุนัย” กับ “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ใครจะคว้าเก้าอี้ คนที่ 17

กลายเป็นประเด็นน่าสนใจ ชวนติดตาม สำหรับการเลือกตั้ง ประธาน ส.อ.ท. คนที่ 17 ซึ่งเป็นการช่วงชิงเก้าอี้ ระหว่าง ประธาน ส.อ.ท.คนเดิม อย่าง “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ที่กำลังจะหมดวาระสมัยที่ 1 ลง กับ มหาเศรษฐีไทย “สมโภชน์ อาหุนัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ตำแหน่ง รองประธาน ส.อ.ท. ที่ประกาศรับใช้ชาติ เสนอตัว ทำหน้าที่ในวาระต่อไป 

บนความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมไทย ที่กำลังถูกปัจจัยลบ เล่นงาน ทุกทิศทุกทาง โดยเฉพาะประเด็นใหญ่ “สินค้าราคาถูก” จากจีน ทะลักเข้าไทย เหยียบหัว ผู้ประกอบการไทย อย่างที่ Thairath Money เคยนำเสนอข่าวไปแล้ว 

สะท้อนจาก ผลการสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งล่าสุด ที่ 38 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม มากถึง 65.8% ระบุว่า มีความกังวล ต่อ “สินค้าราคาถูกด้อยคุณภาพบุกตลาดไทย” เพราะได้ส่งผลกระทบทำให้ยอดขายสินค้าลดลงตั้งแต่ 10% จนถึงมากกว่า 30% ในบางอุตสาหกรรม 

ซึ่งประเด็นดังกล่าวทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมภายในประเทศ ที่นับวันเริ่มถดถอยลง ใครกันจะเป็นคนแก้ แล้วทางออก ควรเป็นเช่นไร? เช่นเดียว กับประเด็นค้างเก่าอื่นๆ ที่ภาคเอกชน และ อุตสาหกรรมไทย อยากเห็นทางออก อย่างยั่งยืนจากรัฐบาล เช่น ประเด็นเรื่องค่าพลังงาน (ค่าไฟ), โครงสร้างค่าแรงขั้นต่ำ, สะสางกฎหมายการดำเนินธุรกิจล้าสมัย เป็นต้น 

ขณะตำแหน่ง ประธาน ส.อ.ท. หรือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยนั้น นับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ในการเป็นสะพานเชื่อมต่อ ทำงานร่วมกันระหว่างฝั่งรัฐ และ เอกชน จนถูกเชิดชูว่าเป็น แกนหลักของประเทศ อีกแกนหนึ่ง ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทย ให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน จากสภาพการณ์ปัจจุบัน ที่ปัจจัยโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผลกระทบเชื่อมต่อกันไปทั้งโลก จากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ยุทธศาสตร์การทำงานระหว่างรัฐและเอกชนต้องเข้มข้น เป็นองคาพยพมากขึ้นไปด้วย 

โอกาสนี้ ชวนทำความรู้จัก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า มีบทบาทสำคัญอย่างไร และการเลือกตำแหน่ง ประธาน ส.อ.ท. วาระปี 2567-2569 มีรูปแบบอย่างไรบ้าง?

เปิดที่มา ส.อ.ท. แกนหลัก พิทักษ์ผลประโยชน์ชาติ 

ส.อ.ท. เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ที่ได้รับการยกฐานะขึ้นจากสมาคมอุตสาหกรรมไทย ที่ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2510 มาเป็นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2530 

อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ตามพระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐที่ต้องการพัฒนาสถาบันธุรกิจภาคเอกชนของไทยให้แข็งแกร่ง ทำให้กลไกการพัฒนา ในภาคอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สามารถประสานกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติในวงการเศรษฐกิจโลก

วิสัยทัศน์สำคัญ คือ “เป็นแกนกลางเสริมสร้างความเข้มแข็ง และผลิตภาพอุตสาหกรรมไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของไทยให้ยั่งยืน”

บทบาท และหน้าที่หลัก ของสภาอุตสาหกรรมฯ

ขณะหน้าที่ของ ส.อ.ท.นั้น หลักๆ ประกอบไปด้วย 

  • เป็นตัวแทนของผู้ประกอบอุตสากรรมภาคเอกชนในการประสานนโยบายและดำเนินการกับรัฐ
  • ส่งเสริมและพัฒนาการประกอบอุตสาหกรรม
  • ศึกษาและหาทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการประกอบอุตสาหกรรม
  • ส่งเสริม สนับสนุนการศึกษา วิจัย อบรม เผยแพร่วิชาการและเทคโนโลยีเกี่ยวกับอุตสาหกรรม
  • ตรวจสอบสินค้า ออกใบรับรองแหล่งกำเนิดหรือใบรับรองคุณภาพสินค้า
  • ให้คำปรึกษาและเสนอแนะแก่รัฐบาล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรม
  • ส่งเสริมนักอุตสาหกรรมและเป็นแหล่งกลางสำหรับนักอุตสาหกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อประโยชน์ต่อวงการอุตสาหกรรม
  • ควบคุมดูแลให้สมาชิกปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบอุตสาหกรรม
    ปฏิบัติกิจการอื่นๆ ตามกฎหมายกำหนด

หากแต่บทบาทสำคัญที่เราจะได้เห็นในหน้าสื่อบ่อยๆ คือ การร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาลและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือ กรอ. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ตลอดจนรัฐบาลได้วางใจให้มีผู้แทน ส.อ.ท.ในคณะอนุกรรมการ และคณะทำงานต่างๆ ในหน่วยงานราชการ จึงมีส่วนร่วมดูแล ส่งเสริมและวางแผน รวมทั้งนำเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขที่สอดคล้องเหมาะสม ต่อภาครัฐบาล 

นั่นเท่ากับมีบทบาทในการกำหนดนโยบาย หรือการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบวิธีการปฏิบัติต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ ชี้เป็น-ชี้ตาย ประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจโดยรวมทุกภูมิภาคของประเทศด้วย 

ที่สำคัญ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยังมีฐานะเท่าเทียมและประสานงานกับ องค์กรภาคธุรกิจเอกชนด้านอุตสาหกรรมของประเทศต่างๆ ทั่วโลก สามารถเจรจาต่อรองเพื่อผลประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมของไทย และเป็นแกนกลาง ประสานให้เกิดความร่วมมือที่จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลและร่วมพัฒนาธุรกิจ การค้า การลงทุน ตลอดจนปกป้องสิทธิ และความยุติธรรมที่สมาชิกและภาคอุตสาหกรรมพึงได้ทั้งในระดับประเทศ และระดับสากล

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ส.อ.ท. ประกอบด้วย 46 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักๆ เช่น 

  • อุตสาหกรรมก๊าซ 
  • อุตสาหกรรมเคมี
  • อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม
  • อุตสาหกรรมการเกษตร 
  • อุตสาหกรรมดิจิทัล 
  • อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์
  • อุตสาหกรรมปิโตรเคมี
  • อุตสาหกรรมยานยนต์ 
  • อุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
  • อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

อีกทั้ง ยังมีการแบ่งคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแยกย่อย ออกไปอีก รวมทั้งคณะกรรมการประจำสายงาน และระดับจังหวัดด้วย เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแล ให้อุตสาหกรรมต่างๆ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์หลักของ ส.อ.ท. 

ขณะที่มาของกรรมการสภาอุตสาหกรรมฯ ซึ่งจะเป็น ผู้ลงคะแนน เลือก ประธาน ส.อ.ท. นั้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม จำนวนทั้งสิ้น 366 คน ประกอบไปด้วย 

1. กรรมการประเภทเลือกตั้ง 

เลือกตั้งจากผู้แทนสมาชิกสามัญในการประชุมสามัญประจำปี จำนวน 244 คน คิดเป็น 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด (เลือกตั้งในวันที่ 25 มี.ค. 2567) 

2. กรรมการประเภทแต่งตั้ง 

มีจำนวน 1ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด มาจาก 46 อุตสาหกรรม 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด จำนวน 122 คน 

โดยกรรมการทั้ง 2 ประเภท 366 คน จะเป็นผู้ลงมติ ชี้ชัด เลือกประธาน ส.อ.ท.คนที่ 17 เร็วๆ นี้ และจะเป็นคนที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ส.อ.ท. รวมถึงมีส่วนร่วมแก้ปัญหา และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ตามบทบาทข้างต้นด้วย 

ส่อง ทำเนียบนายกสมาคมอุตสาหกรรมไทย และประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

นายกสมาคมฯ กิตติมศักดิ์

  • พ.ศ. 2510-2512      ฯพณฯ นายทวี บุณยเกตุ
  • พ.ศ. 2513-2518      พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร
  • พ.ศ. 2519-2520      นายบรรเจิด ชลวิจารณ์
  • พ.ศ. 2521-2522      พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร             
  • พ.ศ. 2523-2525      ดร.ถาวร พรประภา
  • พ.ศ. 2525-2529      นายพงส์ สารสิน
  • พ.ศ. 2529-2530      นายชุมสาย หัสดิน
  • พ.ศ. 2530-2533      นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา

 

ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ กิตติมศักดิ์

  • พ.ศ. 2533-2534      ฯพณฯ นายอานันท์ ปันยารชุน
  • พ.ศ. 2534-2541      ดร.โชคชัย อักษรนันท์             
  • พ.ศ. 2541-2545      นายทวี บุตรสุนทร                
  • พ.ศ. 2545-2549      นายประพัฒน์ โพธิวรคุณ
  • พ.ศ. 2549-2553      นายสันติ วิลาสศักดานนท์
  • พ.ศ. 2553-2555      นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล
  • พ.ศ. 2555-2557      นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล  
  • พ.ศ. 2557-2559      นายสุพันธุ์ มงคลสุธี
  • พ.ศ. 2559-2561      นายเจน นำชัยศิริ        
  • พ.ศ. 2561-2563      นายสุพันธุ์ มงคลสุธี
  • พ.ศ. 2563-2565      นายสุพันธุ์ มงคลสุธี

 

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

  • พ.ศ. 2565-ปัจจุบัน     นายเกรียงไกร เธียรนุกุล      

ที่มา : ส.อ.ท.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ