จับตาแรงงานไร้ฝีมือพุ่ง สศช.แนะปรับขึ้นค่าจ้างตามทักษะ-พื้นที่

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

จับตาแรงงานไร้ฝีมือพุ่ง สศช.แนะปรับขึ้นค่าจ้างตามทักษะ-พื้นที่

Date Time: 5 มี.ค. 2567 07:20 น.

Summary

  • “สศช.” มึนงง แรงงานไร้ฝีมือไทยพุ่ง สวนทางนโยบายอุตสาหกรรมเป้าหมาย ยกระดับ AI หลังตัวเลขแรงงานไร้ฝีมือในภาคอุตสาหกรรมพุ่งจาก 26.2% เป็น 43.6% ในเวลา เพียง 6 ปี แนะเพิ่มทักษะแรงงาน ปรับโครงสร้างการผลิต ขณะที่ภาวะจ้างงานกลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 แต่ค่าจ้างรวมยังลดลง เสนอปรับค่าแรงตามทักษะอาชีพ พื้นที่ แทนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

Latest

แก้ปมขายตรง-แชร์ลูกโซ่ คลังแย้มอยากให้ดีเอสไอดูแล กฎหมายฉ้อโกงแทน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2566 ว่า สถานการณ์แรงงานไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2566 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้น การว่างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง ภาพรวมภาวะการมีงานทำและว่างงานของประเทศไทยกลับมาใกล้เคียงกับช่วงโควิด-19 โดยผู้มีงานทำมีจำนวน 40.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 1.7% โดยภาคเกษตรขยายตัว 1% การจ้างงานในสาขานอกภาคเกษตรกรรมขยายตัว 2% มีผู้ว่างงาน 330,000 คน ลดลงทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนและไม่เคยทำงานมาก่อน รวมทั้งลดลงทุกระดับการศึกษา สำหรับภาพรวมปี 2566 อัตราการมีงานทำอยู่ที่ 98.68% เพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนมีโควิด-19 ขณะที่การว่างงานโดยรวมอยู่ที่ 0.98%

ขณะที่ชั่วโมงการทำงานดีขึ้น โดยภาพรวมและเอกชนอยู่ที่ 42.6 และ 46.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สอดคล้องกับจำนวนผู้ทำงานต่ำ ระดับและผู้เสมือนว่างงานที่ลดลง 23.6% และ 6.8% ตามลำดับ ขณะที่ค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนอยู่ที่ 14,095 เพิ่มขึ้น 0.9%ค่าจ้างแรงงานภาพรวมอยู่ที่ 15,382 บาทต่อคนต่อเดือน ลดลง 0.2% ประเด็นของแรงงานไทย สศช.ยังให้ความสำคัญกับความคืบหน้า การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตให้เป็นอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต ซึ่งโครงสร้างการจ้างงานของอุตสาหกรรม การผลิตปี 2565 ยังเน้นแรงงานไม่มีฝีมือ มีสัดส่วนถึง 43.6% เพิ่มขึ้นจาก 26.2% ในปี 2560 สะท้อนปัญหาเรื่องของโครงสร้างการผลิต ของไทยที่ยังไม่สามารถยกระดับการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย และสถานประกอบการจำนวนมากต้องการเพียงแรงงานทักษะพื้นฐานเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

“แรงงานไร้ฝีมือในภาคอุตสาหกรรมของเราที่มีอยู่มากเป็นตัวชี้วัดเรื่องของการปรับเปลี่ยน โครงสร้างการผลิตที่ยังไม่สำเร็จมากนัก ผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเดิม ซึ่งส่วนนี้จะกระทบกับการผลิตในอนาคต เรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ ที่ต้องแก้ไขทั้งการเพิ่มทักษะแรงงาน การใช้เทคโนโลยีเข้ามาในขั้นตอนการผลิตให้มากขึ้น”

ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะระดับ ปวช.และ ปวส.โดยระดับดังกล่าวมีผู้สมัครงานต่ำกว่าตำแหน่งงานว่างถึง 6.8 และ 7.1 เท่า ตามลำดับ รวมทั้งการพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำธุรกิจในยุค ปัจจุบัน โดยควรมีการอัปสกิลและรีสกิลด้าน AI ให้กับแรงงานในตลาด ผลิตแรงงานรุ่นใหม่ให้มีทักษะ AI ที่ต้องมีหลักสูตรที่เข้ามาช่วยพัฒนาทักษะในระยะสั้นเป็นเวลา 3-4 เดือน

“การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่มีข้อเสนอให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศในเดือน เม.ย.นี้ แนวทางที่เหมาะสมคือการขึ้นค่าแรงตามทักษะวิชาชีพ ควบคู่กับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในบางพื้นที่ให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งลักษณะแบบนี้ผู้ประกอบการ จะสามารถปรับตัว สามารถจ่ายค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นได้ แต่ต้องเน้นเรื่องของการเพิ่มทักษะแรงงานอย่างเป็นระบบ ทั้งการสร้างแรงงานที่มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการในอนาคต ตั้งแต่ในสถานศึกษาและต้องมีระบบที่จะพัฒนาทักษะแรงงานที่ทำงานแล้วให้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว”.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ