ข้อมูลจาก Future Market Insights คาดว่ามูลค่าตลาด “ท่องเที่ยวสายมู” หรือการท่องเที่ยวเชิงศรัทธา (Faith-based Tourism) และการท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (Sacred Tourism) ของทั่วโลก ปี 2566 ที่ผ่านมา มีมูลค่าอยู่ที่ราว 5 แสนล้านบาท
แต่อีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า ตัวเลขอาจจะเพิ่มขึ้นเป็นราว 1.4 ล้านล้านบาท ในปี 2576 ซึ่งเท่ากับจะมีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 10.2% หรือเกือบ 3 เท่าตัว ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นิยมท่องเที่ยวเชิงศรัทธาเช่นนี้ ได้แก่ จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง และอินเดีย
สำหรับประเทศไทยนั้น “การท่องเที่ยวสายมู” กลายเป็นโอกาสทองทางธุรกิจ และภาคท่องเที่ยว จากกระแสนิยมตามรอยศรัทธา ทั้งจากนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจรถเช่า, ทัวร์นำเที่ยว, ธุรกิจกิจกรรมด้านความเชื่อ, โรงแรม-ที่พัก และร้านอาหาร เป็นต้น
สอดคล้องกับข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ที่ชี้ว่าจากปี 2562 ประเทศไทยมีเงินหมุนเวียนจากการท่องเที่ยวเชิงสายมูราว 10,800 ล้านบาท สัดส่วน 0.36% ของมูลค่าการท่องเที่ยวโดยรวมของประเทศ ก่อนที่ในปี 2566 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คาดว่าการท่องเที่ยวดังกล่าว จะสร้างเงินหมุนเวียนในประเทศ สูงถึง 15,000 ล้านบาท
เจาะพื้นที่ที่มีการเติบโตมากที่สุด อ้างอิงบทวิเคราะห์เผยแพร่ล่าสุดของ Krungthai COMPASS ระบุว่า การท่องเที่ยวสายมูในภาคอีสาน ทำให้รายได้ท่องเที่ยวโดยรวมของภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้น มีศักยภาพในการผลักดันให้เป็น Soft Power ของประเทศ
โดยนำอัตลักษณ์และวิถีชีวิตท้องถิ่นของคนลุ่มแม่น้ำโขง ที่มีคติความเชื่อเรื่อง “พญานาค” โดยเฉพาะในจังหวัดอุดรธานี นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ และหนองคาย ซึ่งสามารถเชื่อมโยงสู่ภาคการท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรม มาดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าสู่พื้นที่ได้มากขึ้น ท้ังในรูปของสถานที่ท่องเที่ยวและเส้นทางในการท่องเที่ยว
สะท้อนจากข้อมูลของ Isan Insight & Outlook ชี้ว่า ปัจจุบันจำนวนสถานที่ท่องเที่ยวสายมูในภาคอีสานมีมากถึง 418 แห่ง ซึ่งมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากภาคกลาง อีกท้ังภาคอีสานยังมีเส้นทางท่องเที่ยวสายมูเกือบ 20 แห่ง โดย จังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวสายมูมากที่สุด คือ อุดรธานี 43 แห่ง เช่น คำชะโนด ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสายมูที่มีชื่อเสียงอันดับต้นของประเทศไทย
“สถานที่ท่องเที่ยวสายมูส่วนใหญ่ในภาคอีสาน อยู่ติดกับแม่น้ำโขง สถานที่ท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ได้แก่ ความเชื่อเกี่ยวกับพญานาค สะท้อนจากการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับพญานาค ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น ถ้ำนาคา, บึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ”
ทั้งนี้ ในปี 2565 มีจำนวนนักท่องเที่ยวถ้ำนาคาราว 220,000 คน และบึงโขงหลงมากถึง 400,000 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปี 2564
ที่มา : กระทรวงพาณิชย์, กรุงไทย, ททท.