ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ว่า ปีงบประมาณปี 66 สถาบันการเงินรัฐ 7 แห่ง มีกำไรรวมกัน 49,000 ล้านบาท อยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งการปล่อยสินเชื่อและเงินฝาก ส่วนยอดหนี้เสียเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่งผลให้ยอดการกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 263% ของหนี้เสีย ขณะที่ปีงบประมาณปี 65 ยอดกันสำรองหนี้เสียอยู่ที่ 194% แต่ยังต่ำกว่ายอดกันสำรองหนี้เสียในปีงบ 64 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤติโควิด-19 สำหรับสาเหตุของการกันสำรองไว้สูง นอกจากมีการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ที่ต้องกันสำรองไว้ 100% แล้ว ยังต้องเตรียมสำรองไว้รองรับมาตรการแก้หนี้ทั้งระบบของรัฐบาลด้วย
สำหรับการปล่อยสินเชื่ออยู่ที่ 5.95 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.22% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนเงินรับฝากอยู่ที่ 6.03 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.54% ขณะที่สินเชื่อที่ถูกกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ผิดนัดชำระหนี้ไม่เกิน 3 เดือน ยังไม่ตกชั้นเป็นหนี้เสีย แต่จำเป็นต้องติดตามเป็นพิเศษเพื่อป้องกันไม่ให้ตกชั้น โดยเป็นหนี้เสียอยู่ที่ 294,000 ล้านบาท หรือ 4.10% ของสินเชื่อคงค้าง ขณะที่กำไรสะสมของแบงก์รัฐดีขึ้นกว่าหลายปีที่ผ่านมา โดยปีงบฯปี 66 มีกำไรสะสม 386,000 ล้านบาท สูงกว่าปี 65 ที่กำไร 348,000 ล้านบาท ด้านเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 15.16% เพียงพอต่อการดำเนินงานในระยะต่อไป
ด้าน น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การแก้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของแบงก์รัฐ เป็นหนึ่งในมาตรการที่กระทรวงคลังร่วมกับ ธปท.ดำเนินการต่อเนื่อง หากเทียบบัญชีลูกหนี้ NPLที่เกิดขึ้นช่วงโควิดหรือหลังปี 63 ถึงปัจจุบัน พบว่าอยู่กับแบงก์รัฐ 70% อยู่ที่นอนแบงก์ 20% และอยู่กับธนาคารพาณิชย์ 10% ทำให้คลังและ ธปท.เป็นห่วงปัญหา NPLของแบงก์รัฐ ซึ่งการเปิดให้แบงก์รัฐ และบริษัทบริหารหนี้เสียของเอกชน (AMC) ตั้ง AMC ร่วมกัน เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้แนวโน้ม NPL แบงก์รัฐในระยะต่อไปลดลงได้.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่