World Bank ชี้ ไทยกำลังเผชิญ “วิกฤติทักษะทุนชีวิต” ฉุดประเทศ แบกต้นทุน 3.3 ล้านล้านบาท

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

    World Bank ชี้ ไทยกำลังเผชิญ “วิกฤติทักษะทุนชีวิต” ฉุดประเทศ แบกต้นทุน 3.3 ล้านล้านบาท

    Date Time: 27 ก.พ. 2567 10:17 น.

    Video

    ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

    Summary

    • World Bank ชี้ ไทยกำลังเผชิญ “วิกฤติทักษะทุนชีวิต” 3 ด้านสำคัญของการพัฒนาประเทศ ในศตวรรษที่ 21 ฉุดประเทศ แบกต้นทุน 3.3 ล้านล้านบาท พบเยาวชน-คนสูงวัย ทักษะต่ำกว่าเกณฑ์ เพิ่มความต่างทางรายได้ ขณะ 2 ใน3 ไม่มีความสามารถในการอ่านและเข้าใจข้อความสั้นๆ เพื่อแก้ปัญหาง่ายๆ เจาะเบื้องหลังปัญหา มาจากการเรียนรู้ที่ไม่เท่าเทียม และมีคุณภาพไม่เพียงพอตั้งแต่ปฐมวัย

    Latest


    “คนสร้างชาติ-ชาติสร้างคน” กลายเป็นคำกล่าวที่น่าขบคิดมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับประเทศไทย เพราะนอกจากวันนี้ ปัญหา “หนี้ครัวเรือนไทย” จะฉุดรั้งทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว ทรัพยากรมนุษย์ที่มีปัญหา ตั้งแต่จำนวนลดน้อยถอยลง จากโครงสร้างประชากรเปลี่ยน คนสูงวัยล้นประเทศ ในแง่ “คุณภาพ” ก็มีความน่าเป็นห่วงเช่นกัน 

    ล่าสุด World Bank Thailand (ธนาคารโลก) ชี้ให้เห็นวิกฤติดังกล่าวว่า ขณะนี้ ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤติ #ทักษะทุนชีวิต หรือ #FoundationalSkills คล้ายกับหลายๆ ประเทศในภูมิภาค

    กล่าวคือมีเยาวชนและคนสูงวัยจำนวนมากที่มีทักษะทุนชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์ ตั้งแต่กลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีความสามารถในการอ่านหนังสือขั้นพื้นฐาน และการคำนวณอย่างง่ายๆ ไปจนถึงการเปิดรับสิ่งใหม่ และทักษะที่สำคัญแห่งอนาคตอย่าง “ทักษะดิจิทัล” ที่ยังต้องพัฒนาอีกมาก


    ซึ่งการมีทักษะพื้นฐานของทุนชีวิตข้างต้น จะส่งผลต่อการทำงานในอนาคตด้วย โดยมี 3 องค์ประกอบดังนี้ 

    1. การอ่านออกเขียนได้ (literacy)
    2. ทักษะด้านดิจิทัล (digital skill)
    3. ทักษะทางสังคมและอารมณ์ (sociomotional skill)

    เจาะรายละเอียด สถานะของทักษะทุนชีวิตในประเทศไทย 

    • การรู้หนังสือ 64.7%
    • ทักษะดิจิทัล 74.1%
    • ทักษะทางอารมณ์และสังคม (มีส่วนร่วม) 30.3% / ทักษะทางอารมณ์และสังคม (ค้นหาสิ่งใหม่) 30.3%
    • ทั้ง 3 ทักษะ 18.7% 

     

    ทั้งนี้ วิกฤติด้านทักษะ จะพบชัดเจนในกลุ่มผู้ที่มาจากพื้นที่ชนบท ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และมีการศึกษาไม่ถึงระดับอุดมศึกษา 

    • 70% ของผู้ที่อยู่ในชนบท มีระดับการรู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์ (ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ 65%)
    • 80% ของผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีระดับทักษะด้านดิจิทัลต่ำกว่าเกณฑ์ (ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ 75%)
    • 60% ของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี และมีการศึกษาไม่ถึงระดับอุดมศึกษา มีระดับการรู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์ (ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ 65%)

    “วิกฤติด้านทักษะจะถูกพบมากสุดในกลุ่มผู้ที่มีอยู่ในพื้นที่ชนบท อาศัยอยู่ในภาคเหนือและภาคใต้ ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และมีการศึกษาไม่ถึงระดับอุดมศึกษา” 

    โดยสิ่งที่ต้องคำนึง World Bank ชี้ว่าวิกฤติทักษะในไทยนั้น ทำให้ประเทศเกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจมหาศาล ซึ่งมีมูลค่าถึง 3.3 ล้านล้านบาท (20% ของ GDP) ในปี 2565 

    ขณะเดียวกัน เมื่อเจาะความแตกต่างของรายได้แรงงานต่อเดือน ระหว่างผู้ที่มีทักษะทุนชีวิตที่ต่ำกว่าและสูงกว่าเกณฑ์ พบมีความห่างกันถึง 6,300 บาท (190 ดอลลาร์สหรัฐ)

    • ผู้ที่มีทักษะทุนชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์ทั้ง 3 ทักษะสำคัญ รายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 12,503 บาทต่อเดือน 
    • ผู้ที่มีทักษะทุนชีวิตอย่างน้อยหนึ่งทักษะที่สูงกว่าระดับเกณฑ์ พบจะมีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 19,203 บาท 

    โคจิ มิยาโมโตะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้าน Global Practice จากธนาคารโลก กล่าวว่า บริบทเบื้องหลังของวิกฤติทักษะทุนชีวิตของไทย วางอยู่บนปัญหา 3 ประการ คือ

    1. หลักสูตร/โปรแกรม/การเรียนรู้ ที่เน้นแนวทางที่ใช้แล้วได้ผล ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
    2. ครู/อาจารย์ ไม่ได้รับการฝึกฝน ขาดทักษะการสอน 
    3. โอกาสในการเรียนรู้ โดยยังมีกลุ่มเปราะบางเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้รับโอกาส และเข้าไม่ถึงมาตรฐานการศึกษาที่เท่าเทียม

    ตัวอย่างของวิกฤติทักษะทุนชีวิต 

    • 2 ใน3 ของวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ ไม่มีความสามารถในการอ่านและเข้าใจข้อความสั้นๆ เพื่อแก้ปัญหาง่ายๆ เช่น การปฏิบัติคำแนะนำทางการแพทย์
    • 3 ใน 4 ของวัยรุ่นและผู้ใหญ่ มีความยากลำบากในการใช้เว็บไซต์ เพื่อทำงานง่ายๆเช่น การหาราคาของแพ็กเกจโทรศัพท์มือถือรายเดือน บนเว็บไซต์
    • 30% ของวัยรุ่นและผู้ใหญ่ ไม่มีแนวโน้มที่จะคิดริเริ่มเพื่อสังคม หรือกระตือรือร้น

    ทั้งนี้ จุดเริ่มของวิกฤติทักษะทุนชีวิต เกิดขึ้นตั้งแต่การเรียนรู้ในระดับปฐมวัย ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ในช่วงวัยอื่นๆ รวมถึงการเรียนรู้ในช่วงวัยแรงงาน ดังนั้นจำเป็นต้องเชื่อมโยงการเรียนรู้ในทุกช่วงวัย เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต (life-long learning) เน้นบูรณาการทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน รวมไปถึงท้องถิ่น เพื่อการดำเนินนโยบายที่มีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง

    มิยาโมโตะ ยังเน้นยํ้าว่า ทักษะทุนชีวิต ช่วยให้คนสามารถเอาชนะความท้าทาย และใช้ประโยชน์จากโอกาสในศตวรรษที่ 21 ได้ หากประชากรมีทักษะดังกล่าวแล้ว จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาประเทศ และจากตัวเลขที่พบในหลายประเทศ การเพิ่มขึ้นของการอ่านออกเขียนได้เพียง 1% จะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ได้ถึง 3% เลยทีเดียว

    " ต้นทุนทางเศรษฐกิจรวมกันจากกลุ่มที่ระดับทักษะการรู้หนังสือและทักษะดิจิทัลต่ำกว่าเกณฑ์ยังสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 20.1 ของ GDP ในปี 2565 โดยมูลค่าดังกล่าวมีจำนวนสูงกว่างบประมาณภาครัฐ ประจำปี พ.ศ. 2565 (3.1 ล้านล้านบาท) ซึ่งการคาดการณ์ความสูญเสียทางรายได้จากกลุ่มที่ทักษะต่ำกว่าเกณฑ์นี้เป็นเพียงการคำนวนจาก 12 เดือนเท่านั้น และการสูญเสียทางรายได้ลักษณะนี้จะยังคงเกิดขึ้นในปีต่อๆ ไปอีก "

    ที่มา : ธนาคารโลก


    Author

    กองบรรณาธิการ

    กองบรรณาธิการ