เปิดสถิติข้อมูลสินค้านำเข้าไม่เกิน 1,500 บาท ช่วง 3 ปีย้อนหลัง มีสินค้านำเข้าได้รับการยกเว้นภาษีกว่า 153 ล้านชิ้น มูลค่า 42,214 ล้านบาท ขณะนี้กรมศุล-สรรพากร อยู่ระหว่างพิจารณาแก้ไขกฎหมายว่าควรจะเก็บอย่างไร เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการในประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรมศุลกากรว่า กรมศุลฯ ได้จัดเก็บสถิติข้อมูลสินค้านำเข้าที่มูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ซึ่งได้รับยกเว้นอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) พบว่า ใน 3 ปีย้อนหลังไทยมีการนำเข้าสินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปีงบประมาณ 64 มีปริมาณสินค้า 40.82 ล้านหีบห่อ คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 9,840 ล้านบาท ปีงบ 65 อยู่ที่ 47.05 ล้านหีบห่อ คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 11,688 ล้านบาท และปีงบ 66 อยู่ที่ 56.83 ล้านหีบห่อ คิดเป็นมูลค่า 17,972 ล้านบาท รวม 3 ปี 144 ล้านหีบห่อ มูลค่า 39,502 ล้านบาท
ส่วนของไปรษณีย์มีการนำเข้าสินค้าไม่เกิน 1,500 บาท ในปีงบ 64 ที่ 4.09 ล้านหีบห่อ มูลค่า 1,141 ล้านบาท ปีงบ 65 ที่ 2.91 ล้านหีบห่อ มูลค่า 875 ล้านบาท และปีงบ 66 ที่ 2.11 ล้านหีบห่อ มูลค่า 676 ล้านบาท รวม 3 ปี 9.13 ล้านหีบห่อ มูลค่า 2,712 ล้านบาท และหากรวมทั้งสินค้าที่ได้รับการยกเว้นทั้งหมดตลอด 3 ปี ปี 64-66 มีสินค้าได้รับยกเว้น 153 ล้านหีบห่อ มูลค่า 42,214 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากปัญหาดังกล่าวส่งผลให้กระทรวงการคลังได้มีการทบทวนกฎหมายใหม่ เพื่อให้สามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาทได้ตั้งแต่ 1 บาทแรก เพื่อลดปัญหาความลักลั่นทางภาษีจนทำให้ผู้ผลิตคนไทยเสียเปรียบ เนื่องจากปัจจุบันสินค้าที่ผลิตโดยคนไทย ถูกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ตั้งแต่ 1 บาทแรก สวนทางกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ เช่น จีนที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเลย จนทำให้สินค้าจากต่างประเทศเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทยไปมาก โดยประเมินว่าหากเก็บเฉพาะภาษีแวตกับสินค้าที่เคยได้รับยกเว้นที่ปีละ 20,000 ล้านบาท จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่ม 1,400 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการยกเว้นเก็บอากรขาเข้าสำหรับสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ยังคงต้องยกเว้นต่อไปตามระเบียบขององค์การศุลกากรโลก เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าให้แก่กัน อาทิ ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน พบก็มีการใช้หลักเกณฑ์สำหรับการยกเว้นอากรขาเข้าเช่นกัน โดยประเทศที่กำหนดเกณฑ์ใกล้เคียงไทย อาทิ กัมพูชาและเมียนมา ยกเว้นสินค้าที่ไม่เกิน 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,788 บาท เวียดนามยกเว้นที่ไม่เกิน 40 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,431 บาท ขณะที่สิงคโปร์ 298 ดอลลาร์สหรัฐฯ ประมาณ 10,662 บาท และบรูไน 296 ดอลลาร์สหรัฐฯ ประมาณ 10,590 บาท
สำหรับข้อมูลของประเทศทั่วโลก กลุ่มที่กำหนดเกณฑ์ต่ำสุด อาทิ อินโดนีเซีย ยกเว้นสินค้าที่ไม่เกิน 3 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 107 บาท อินเดีย 4 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 143 บาท และจีนที่ 8 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 286 บาท ขณะที่ประเทศที่กำหนดเกณฑ์สูง เช่น คาซัคสถานยกเว้นสินค้าที่ไม่เกิน 580 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 20,751 บาท นิวซีแลนด์ 706 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 25,259 บาท และสหรัฐอเมริกา 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 28,623 บาท ส่วนสหภาพยุโรป กำหนดที่ 174 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 6,225 บาท และยกเว้นภาษีแวตของสินค้านำเข้าตามเกณฑ์ดังกล่าว เฉพาะสำหรับ 22 ประเทศสมาชิก เป็นต้น
ด้านนายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ขณะนี้กรมศุลกากรและกรมสรรพากรได้รับคำสั่งการและแนวทางให้ทบทวนเรื่องกฎหมาย และระบบที่จะใช้จัดเก็บภาษีดังกล่าวอยู่ โดยทางกระทรวงคลังกำหนดระยะเวลาให้ทำงานให้แล้วเสร็จภายในปี 67-68 โดยกรมกำลังดูว่าจะทำอะไรได้บ้าง ส่วนเรื่องของสินค้านั้นไม่มีปัญหาที่จะต้องตรวจสอบ เพราะสินค้าที่ส่งมาจะมีใบขน และสำแดงรายการติดหน้ากล่องอยู่แล้ว ขณะที่ในสนามบินก็มีเครื่องสแกนเอกซเรย์ ซึ่งช่วยให้มองเห็นทุกอย่างภายใน เพราะปกติต้องตรวจเรื่องของผิดกฎหมาย เช่น ยาเสพติดอยู่แล้ว
“ต่างประเทศสินค้าที่นำเข้าในลักษณะส่งระหว่างบุคคลนั้น มีการยกเว้นอากรเหมือนกัน แต่ไม่ได้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ประเทศไทยกฎหมายได้ระบุให้ยกเว้นอากรขาเข้า แต่กฎหมายยังไปผูกให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย จึงเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้ ดังนั้น ก็ต้องไปแก้ไขกฎหมายดูว่าควรจะเก็บอย่างไร ซึ่งหลักใหญ่ต้องพิจารณาเรื่องการสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการในประเทศ”.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่