นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ได้ตั้งเป้าให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอี ผ่านการให้บริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจ (BDS) ภายใต้โครงการ “SME ปัง ตังได้คืน ปีที่ 3” คาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจรวม 2,500 ล้านบาท จากปัจจุบันให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีไปแล้ว 4,500 ราย โดยมีระบบให้บริการ 406 บริการ จาก 98 ผู้ให้บริการทางธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 1,200 ล้านบาท
“ผมจะผลักดันผู้ประกอบการ นำธุรกิจเพื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว ด้วยการดึงผู้ให้บริการทางธุรกิจ ให้คำปรึกษาเรื่องการจัดทำคาร์บอนฟุตปรินต์ ในสถานประกอบการ การอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรอง ฉลากคาร์บอนฟุตปรินต์ การขึ้นทะเบียนและรับรองโครงการลดก๊าซเรือนกระจกให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ”
ทั้งนี้ สสว.จะอุดหนุนค่าใช้จ่ายพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีแบบร่วมจ่าย สัดส่วน 50-80% ตามขนาดของธุรกิจแต่ละกิจการ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาทต่อราย ใช้สิทธิ์ได้ปีละ 2 ครั้ง จนถึงเดือน ก.ย.นี้ คือเอสเอ็มอีขนาดกลาง (M) ในกลุ่มภาคการผลิตที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี จะได้สิทธิร่วมโครงการนี้ได้ทันที ส่วนประเภทอื่นๆที่ไม่ใช่ภาคการผลิต มีรายได้ไม่เกิน 300 ล้านบาทต่อปี ได้รับการอุดหนุนร่วมจ่าย 50% หรือไม่เกิน 200,000 บาท รวมถึงเอสเอ็มอีขนาดย่อม (S) ภาคการผลิตรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี ขณะที่เอสเอ็มอีประเภททั่วไปที่มีรายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อปี ได้รับการอุดหนุนร่วมจ่าย 80% หรือไม่เกิน 200,000 บาท และเอสเอ็มอีขนาดเล็ก (Micro SME) รายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ได้รับการอุดหนุนร่วมจ่าย 80% ไม่เกิน 50,000 บาท.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่