“กรุงศรี” หั่นเป้า GDP ปี 67 เหลือ 2.7% โตต่ำกว่าอาเซียน คาด กนง.เริ่มลดดอกเบี้ยกลางปีนี้

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

“กรุงศรี” หั่นเป้า GDP ปี 67 เหลือ 2.7% โตต่ำกว่าอาเซียน คาด กนง.เริ่มลดดอกเบี้ยกลางปีนี้

Date Time: 23 ก.พ. 2567 16:05 น.

Video

วิธีเอาตัวรอดของ Wikipedia ไม่พึ่งโฆษณา ไม่มีค่าสมาชิก แต่อยู่มาได้ 23 ปี | Digital Frontiers

Summary

  • กรุงศรี หั่นเป้า GDP ปี 67 เหลือ 2.7% ชี้เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพและอาเซียน ภาคการท่องเที่ยว-ส่งออก พระเอกพยุงการเติบโต คาดกนง.ลดดอกเบี้ยกลางปีนี้ หากแรงส่งแผ่ว

Latest


วิจัยกรุงศรี โดย ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตต่ำใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 3.1% พร้อมปรับคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 2.7% ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียน-5 ยังเติบโตดีต่อเนื่องอยู่ที่ 4.7%


สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตตามวัฏจักรเศรษฐกิจ แม้การฟื้นตัวจะยังไม่กระจายตัวและยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ 2.7% (ไม่รวมผลดิจิทัลวอลเล็ต) เร่งขึ้นจาก 1.9% ในปี 2566 ด้วยแรงส่งส่วนใหญ่จากปัจจัยภายในประเทศ 4 ด้าน ประกอบด้วย


1. การฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว จากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐและความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นจาก 28.2 ล้านคนในปี 2566 เป็น 35.6 ล้านคนในปี 2567 แม้จะยังไม่กลับสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิดที่ 40 ล้านคน 


2. การบริโภคภาคเอกชนยังคงเติบโตต่อเนื่องที่ 3.1% แรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น กอปรกับยังมีผลเชิงบวกจากนโยบายของภาครัฐที่ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพและมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย


3. การใช้จ่ายภาครัฐจะมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2567 หลังจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีวงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้น 9.3% จากปีงบฯ ก่อน) ได้รับอนุมัติ ซึ่งจะส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนภาครัฐกลับมาขยายตัวที่ 1.5% และ 2.4% ตามลำดับ จากที่หดตัวในปี 2566 


4. การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะเติบโต 3.3% ตามการเติบโตของภาคบริการ และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสำคัญๆ

ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง


โดยภาพรวมแล้ว เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะมีแนวโน้มปรับดีขึ้น แต่อัตราการเติบโตยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยมีปัจจัยกดดันการเติบโตทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ


ปัจจัยเสี่ยงในประเทศ

  • ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงท่ามกลางต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น
  • ผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจรุนแรงขึ้น
  • ปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ประชากรสูงวัย การขาดแคลนแรงงาน และความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงในหลายอุตสาหกรรม


ปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศ

  • ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยในประเทศแกนหลักของโลกที่สูงสุดในรอบกว่าสองทศวรรษอาจกดดันเศรษฐกิจโลกและภาคการเงิน
  • เศรษฐกิจจีนชะลอตัวท่ามกลางความเปราะบางในภาคอสังหาริมทรัพย์
  • การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีน
  • ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจขยายวงกว้างในระยะต่อไป

กนง.เริ่มลดดอกเบี้ยกลางปี


แม้เศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัว แต่อัตราการเติบโตยังต่ำกว่าศักยภาพที่ 3% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยปี 67 คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำที่ 1.1% ชะลอลงเล็กน้อยจากปีก่อนที่อยู่ที่ 1.2% ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มโอกาสทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงตั้งแต่ช่วงกลางปี 67 เป็นต้นไป หากแรงส่งทางเศรษฐกิจแผ่วลง เพื่อสนับสนุนให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีความต่อเนื่อง


อย่างไรก็ตาม วิจัยกรุงศรีมองว่า กนง.จะไม่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยแรงถึง 1.25% ในขณะที่ตลาดการเงินคาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 1-2 ครั้ง หรือประมาณครั้งละ 0.25%

บาทไทย จ่อแข็งค่าแตะ 34 บาทต่อดอลลาร์สิ้นปี


สำหรับทิศทางค่าเงินบาท Global Market กรุงศรีมองว่า เงินบาทจะกลับมาแข็งค่าที่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงสิ้นปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล หนุนให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตามคาดว่าตลอดทั้งปี ค่าเงินบาทจะมีความผันผวนสูง เนื่องจากความไม่แน่นอนในการปรับนโยบายการเงินแต่ละประเทศ

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ