น.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากร ได้ร่วมมือกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เข้าตรวจค้นสถานที่ออกใบกำกับภาษีปลอมจำนวน 5 แห่ง และได้ยึดเอกสารใบกำกับภาษีที่เป็นของปลอมไว้ทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท จากนั้นกรมสรรพากรจะนำเอกสารดังกล่าวไปขยายผล เพื่อดำเนินคดีฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยโทษทางแพ่งต้องรับผิดเบี้ยปรับ 2 เท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษีพร้อมทั้งเงินเพิ่มตามกฎหมายอีกในอัตรา 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของจำนวนเงินภาษี และโทษทางอาญา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000-200,000 บาท
“การกระทำดังกล่าว เป็นการทำลายระบบภาษี ผู้ที่ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีการซื้อขายจริง มีเจตนาหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ดังนั้น จึงขอให้ผู้ประกอบการที่คิดจะกระทำใบกำกับภาษีปลอมให้ยุติการกระทำ และขอชักชวนให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบใบกำกับภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice & e-Receipt) เพื่อลดความเสี่ยง การถูกปลอมแปลงใบกำกับภาษี ลดความซ้ำซ้อนและลดการใช้กระดาษ ลดค่าใช้จ่าย ประหยัดเวลา เพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่องค์กร เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต”
ด้าน พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กล่าวว่า บก.ปอศ. ได้รับคำร้องเรียนจากพลเมืองดี ว่ามีบุคคลหรือนิติบุคคลกระทำความผิดเกี่ยวกับการออกใบกำกับภาษี โดยไม่มีสิทธิออก เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ กก.2 บก.ปอศ. จึงได้ทำการสืบสวน โดยให้สายลับเจรจาล่อซื้อใบกำกับภาษีจากกลุ่มบุคคลดังกล่าว 5 ครั้ง มีการออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิที่จะออกจำนวน 30 ใบ ต่อมาได้ไปตรวจสอบสถานประกอบการ ซึ่งจดทะเบียนเป็นสำนักงานนิติบุคคล พบว่า ไม่มีลักษณะเป็นสถานประกอบการ แท้จริงแล้ว ได้เปิดกิจการเพื่อขายใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันมีลักษณะเป็นการทำลายระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชน จึงได้รีบดำเนินการโดยเร่งรัด.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่