Krungthai COMPASS เผย ภาพรวมสถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตรในไตรมาส 4/2566 พบว่าพลิกกลับมาขยายตัว 3.7% จากปีก่อน เทียบกับไตรมาสก่อนที่หดตัว 0.3% ลดลงจากปีก่อน การส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ ขยายตัวตามทิศทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ทยอยปรับดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น ตลาดอาเซียน และตลาดสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 24% และ 9% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 20.3%YoY และ 14.9%YoY ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุด คิดเป็นสัดส่วน 27% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาหดตัว 4.4%YoY ส่วนหนึ่งจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 7% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวต่อเนื่องที่ 3.5%YoY ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงในปีก่อนในกลุ่มสินค้าหลักอย่าง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป
หมวดสินค้าเกษตร มีการขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.7%YoY โดยกลุ่มสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่
- ข้าว (43.8% YoY)
- ยางพารา (6.5%YoY) ซึ่งพลิกกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในปีก่อน
ขณะที่กลุ่มสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่
- มันสำปะหลัง (-21.9%YoY)
- ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง (-10.8%YoY)
- ไก่ (-0.3%YoY)
หมวดสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร กลับมาขยายตัวที่ 3.7%YoY โดยกลุ่มสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่
- สิ่งปรุงรสอาหาร (22.3%YoY) เนื่องจากฐานที่ต่ำในปีก่อน
- อาหารสัตว์เลี้ยง (4.1%YoY) ซึ่งพลิกกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส จากสต๊อกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของผู้นำเข้าที่ทยอยลดลง
ขณะที่กลุ่มสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่
- อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (-5.5%YoY)
- น้ำตาลทราย (-5.5%YoY)
ข้าวเวียดนามมาแรง แข่งราคาข้าวไทย
มูลค่าการส่งออกข้าวไตรมาสที่ 4/ 2566 ขยายตัวต่อเนื่องที่ 43.8% YoY จากปริมาณการส่งออกข้าวโดยรวมที่ขยายตัว 16.3% YoY และราคาส่งออกข้าวเฉลี่ยโดยรวมที่มีการปรับเพิ่มขึ้น 23.6% YoY โดยเฉพาะราคาส่งออกข้าวขาว 5% ที่ปรับเพิ่มขึ้นถึง 37.9% YoY จากนโยบายการจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดีย
รวมถึงยังได้รับอานิสงส์จากความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหาร กอปรกับปริมาณการส่งออกที่ขยายตัว 35.1%YoY ทำให้มูลค่าการส่งออกข้าวขาว 5% ยังคงขยายตัวดีที่ 77.7% YoY
เช่นเดียวกับมูลค่าการส่งออกข้าวหอมมะลิที่ขยายตัว 40.9%YoY จากปัจจัยด้านปริมาณการส่งออกที่ขยายตัว 40.3%YoY จากฐานที่ต่ำในปี 2565 เป็นหลัก ส่วนราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 0.4%YoY ซึ่งเกิดจากการแข่งขันกับข้าวชนิดอื่นในตลาดส่งออก เช่น ข้าวพันธุ์พื้นนุ่มของเวียดนามที่มีราคาถูกและรสชาติดี
ความเสี่ยงที่ต้องจับตามองปี 2567-2568
แม้การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในปี 2567 จะขยายตัวได้ แต่มีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ดังนี้
- ปัญหาการสู้รบในทะเลแดงที่มีแนวโน้มยืดเยื้ออาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไทยไปสหภาพยุโรป เนื่องจากไทยพึ่งพาตลาดสหภาพยุโรปราว 7.4% ของการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยไปยังตลาดโลก ทำให้ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไทยต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าขนส่งที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามค่าระวางเรือ นอกจากนี้ อาจทำให้ผู้นำเข้าในกลุ่มสหภาพยุโรปมีแนวโน้มที่จะนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นที่มีต้นทุนค่าขนส่งที่ถูกกว่าไทยหรือเอเชีย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสินค้าไทยที่พึ่งพาตลาดสหภาพยุโรปในสัดส่วนที่สูง เช่น สินค้าในกลุ่มไก่ และสิ่งปรุงรสอาหาร เป็นต้น
- เศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักสินค้าเกษตรไทยเติบโตต่ำกว่าคาด โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมของจีนที่ยังอ่อนแอ อาจส่งผลกระทบต่อเนื่อง มายังการส่งออกสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของจีนอย่างยางพารา เป็นต้น
- ความเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้ง แม้ว่าในปี 2566 ไทยจะได้รับอานิสงส์จากปัญหา สภาพอากาศทั่วโลก ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารปรับตัวดีขึ้น จากปัญหาความมั่นคงทางอาหาร อย่างไรก็ดี พืชเกษตรสำคัญ เช่น ข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง ที่จะทำการเพาะปลูกช่วงหน้าแล้ง อาจได้รับผลกระทบน้อยกว่าที่คาดไว้เดิม จากปริมาณน้ำต้นทุนในช่วงปลายปี 2566 ที่เพิ่มขึ้นจากร่องมรสุมที่ผ่านไทยในช่วง ก.ย.-ต.ค. 2566 แต่คาดว่าปริมาณน้ำต้นทุนหลังสิ้นสุดฤดูฝนในปีนี้จะยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน จึงยังต้องติดตามความเสี่ยงจากภัยแล้งในช่วงแรกของปี 2567 อย่างใกล้ชิด
- ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้นจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทย โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ที่มีการแข่งขันด้านราคารุนแรงอยู่แล้ว
- ต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อาจกดดันอัตรากำไร ของผู้ประกอบการ สินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ต้นทุนแรงงานที่อาจส่งผลกระทบต่อ ผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าที่กระบวนการผลิตมีการใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง เป็นต้น รวมถึงต้นทุนทางการเงิน โดยเฉพาะรายกลาง และรายย่อยที่มีประสิทธิภาพ ในการบริหาร จัดการต้นทุนต่ำกว่ารายใหญ่ อีกทั้งยังเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ค่อนข้างยาก
- ประเทศคู่ค้าที่มุ่งเน้นมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น กฎหมายที่ห้ามนำเข้าหรือส่งออกสินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายป่าไม้เข้าสู่ตลาดของสหภาพยุโรป (EU Deforestation-free products) ปัจจุบันยังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน ก่อนจะเริ่มนำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 30 ธ.ค. 2567 อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทย ไปยังประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มยางพารา และน้ำมันปาล์ม