ก็เป็นไปตามคาด กนง. มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 โดย มีกรรมการ 2 เสียงที่เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 กนง. มีกรรมการ 7 คน คงเดาได้ไม่ยาก กรรมการ 2 ท่านมีใครบ้าง
เหตุผลที่ กนง.เสียงส่วนใหญ่ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 นั้น คุณปิติ ดิษยทัต เลขานุการ กนง. แถลงว่า
เศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้ม “ขยายตัวชะลอลง” จาก “ภาคการส่งออก” และ “การผลิต” เนื่องจากอุปสงค์โลกและเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้า และผลกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง แต่การบริโภคยังขยายตัวดีต่อเนื่อง ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ ขณะที่กรรมการ 2 ท่าน เห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ตํ่าลง
แรงส่งทางเศรษฐกิจที่ลดลงในช่วงปลายปี 2566 (จากการส่งออกและการผลิตที่ฟื้นตัวช้า นักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่ายต่อคนลดลง การลงทุนภาครัฐที่หายไปจากงบที่ล่าช้า) ส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งปี 2567 ปรับลดลง คาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5-3 โดยมีการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ แต่มองไปข้างหน้า ปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะด้านความสามารถในการแข่งขันของประเทศจะเป็นอุปสรรคมากขึ้นหากไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ (ซึ่งเป็น หน้าที่ของรัฐบาล ลดดอกเบี้ยก็ช่วยไม่ได้)
ส่วนเรื่อง “เงินเฟ้อ” ที่รัฐบาลยกเป็นข้ออ้างให้ลดดอกเบี้ย กนง. เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อที่ตํ่าในปัจจุบัน ไม่ได้บ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่อ่อนแอ เพราะราคาสินค้าไม่ได้ปรับลดลงในวงกว้าง แต่สะท้อนเฉพาะในบางกลุ่มสินค้า (ที่รัฐบาลเอาเงินภาษีไปอุ้ม) หากหักมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐออกไป อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังเป็นบวก (ไม่ใช่ติดลบ) ปี 2567 เงินเฟ้อมีแนวโน้มทรงในระดับตํ่าที่ 1% ก่อนจะทยอยเพิ่มขึ้นในปีหน้า
ระบบการเงิน โดยรวมมีเสถียรภาพ การระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ยังดำเนินการได้ตามปกติ การกู้ยืมเงินผ่านธนาคารพาณิชย์และตลาดตราสารหนี้ก็ใกล้เคียงเดิม ภาคธุรกิจและครัวเรือนยังได้รับสินเชื่อใหม่ต่อเนื่อง ยอดคงค้างลดลงเล็กน้อยจากการชำระหนี้ก่อนกำหนดผู้ประกอบการในภาพรวมยังสามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ แม้รายได้จะฟื้นตัวช้า เพราะต้นทุนวัตถุดิบอยู่ในระดับสูง (กระทรวงพาณิชย์ควรจะเข้าไปดูแล) ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจขนาดเล็กบางอุตสาหกรรมสินเชื่อตึงตัว เพราะสถาบันการเงินระมัดระวัง
อีกประเด็นหนึ่งที่ผมเห็นว่าน่าสนใจ ไม่ใช่ความเห็น กนง. แต่เป็นมุมมองของ รศ.ดร.พรชนก คัมภีรยส คูเวนเบิร์ค อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์การเงินระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬา เรื่อง “ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ว่า ความแตกต่างระหว่างดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯกับญี่ปุ่นที่ติดลบ ส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่ามาก หากสหรัฐฯหรือชาติตะวันตกลดดอกเบี้ย แต่เราไม่ลด ส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายจะแคบลง แต่ถ้ารอบนี้เราลดดอกเบี้ยประเทศอื่นยังไม่ลด ส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายจะกว้างขึ้น เงินทุนจะไหลออกจากไทย เงินบาทก็จะอ่อนค่าไปอีกก็ได้
ช่วงที่ผ่านมาหลายฝ่ายพูดเหมือน นโยบายการเงินเป็นยาวิเศษ ไม่ลดดอกเบี้ยจะทำให้ประเทศแย่ ไม่เห็นใจคนจน นโยบายการเงินกลายเป็นแพะรับบาป
รศ.ดร.พรชนก กล่าวว่า จริงๆแล้วเราทุกคนรู้ว่า เศรษฐกิจไทยมีปัญหาเพราะปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก ต้องพึ่งพิงนอกประเทศ ในประเทศก็มีปัญหาสังคมสูงวัย คุณภาพการศึกษา การเมือง ความไม่เท่าเทียม สารพัดอย่างที่แก้ไม่ได้ด้วยดอกเบี้ย ถ้าไม่แก้ที่ปัญหาอย่างจริงจัง เราจะเป็น “กบต้ม” เหมือนที่พูดกัน.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม