นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยว่า อยากฝากถึงคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ประชุมวันที่ 7 ก.พ.2567 ว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องลดดอกเบี้ยจาก 2.5% ลงไปเหลือ 2.25% เพราะยังมีพื้นที่ลดดอกเบี้ยได้อีก และหากมีวิกฤติหรืออะไรเกิดขึ้นก็ยังสามารถลดลงไปได้อีก จึงควรเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ ทั้งนี้ เงินเฟ้อกับดอกเบี้ยถือเป็นเรื่องใหญ่ แต่อย่าลืมว่าจริงๆแล้วเงินเฟ้อที่ติดลบ ส่วนหนึ่งเกิดจากที่มีมาตรการรัฐออกไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเพื่อลดรายจ่าย แสดงให้เห็นว่าจริงๆแล้ว ตรงนี้ไม่มีประเด็นที่จะเกิดเงินเฟ้อ หรือถ้าจะเกิดจากรากปัญหาคือต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น แต่เมื่อเราไปคุมตรงนั้นได้เงินเฟ้อก็ไม่มี ดังนั้น ความเสี่ยงเกือบไม่มีเลยว่าลดดอกเบี้ยไปแล้วจะเกิดเงินเฟ้อ
“การขึ้นดอกเบี้ยต้องดูที่เงินเฟ้อที่เกิดจาก Demand-pull Inflation คือ ราคาสินค้าแพงขึ้นจากความต้องการของผู้บริโภคที่สูงขึ้น แต่ตอนนี้ความต้องการนี้ไม่มี แสดงว่าปลอดภัยที่จะลดดอกเบี้ยได้แล้ว เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนถ้าเกิดลดดอกเบี้ยลงมาแล้ว เกิดมี ปัญหาเรื่องของความต้องการที่มีจำนวนมาก ก็อาจจะก่อให้เกิดเงินเฟ้อได้ ซึ่งผมดูจากตัวเลขทั้งสองฝั่งในส่วนของ Cost-push Inflation คือ เงินเฟ้อที่เกิดจากราคาสินค้าแพงขึ้นจากต้นทุนที่แพงขึ้น โดยเห็นว่าพื้นที่ในการลดดอกเบี้ยมีอีกเยอะมาก”
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เรื่องการพูดคุยกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความชัดเจนอยู่แล้ว และเรื่องตัวเลขก็คุยผ่านสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่งจะเป็นเรื่องความเห็นต่างหรือเรื่องทิฐิไม่ทราบ แต่ชัดเจนอยู่แล้วที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันมา 4 เดือนแล้ว มาจากมาตรการที่รัฐบาลพยายามช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการลดรายจ่าย ลดค่าไฟ ลดค่าน้ำมันต่างๆ รวมถึงการพักชำระหนี้ต่างๆเป็นการบรรเทารายจ่ายของพี่น้องประชาชน อย่างที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เรียนไปในเรื่องที่รัฐบาลยังไม่สามารถใช้งบประมาณได้ จนกระทั่งเดือน พ.ค.นี้ ตอนนี้รัฐบาลขับเคลื่อนช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้โดยนโยบายอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นนโยบายวีซ่าฟรี การกระตุ้นการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติที่จะมาลงทุน ดังนั้น การลดดอกเบี้ยเป็นเรื่องสำคัญ
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า การที่บอกว่ามาตรการของรัฐทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ต้องมาทบทวนว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ในทางปฏิบัติรัฐบาลใช้มาตรการการคลังเกือบทุกเรื่อง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือ ปัญหามาตรการทางการเงิน หากจะให้ปัญหาได้รับการแก้ไขเป็นอย่างดี ในประเทศอื่นมาตรการการเงินและมาตรการการคลังต้องควบคู่กัน จึงต้องถามว่าผู้ที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลมาตรการทางการเงินได้ดำเนินการอะไรบ้าง มีการลดดอกเบี้ยหรือไม่
“ผมว่าตอนนี้ภาระหน้าที่อยู่ที่แบงก์ชาติ และผู้ที่รับผิดชอบดูแลมาตรการทางการเงิน ต้องทำทั้งสองเรื่องควบคู่กันถึงจะแก้ปัญหาต่างๆได้ ถ้าดูเรื่องเดียว ดูไม่หมด จะต้องดูทั้งสองเรื่อง เป็นสองขาประกอบกัน มันถึงจะแก้ปัญหาได้ กระทรวงพาณิชย์เพียงสะท้อนตัวเลข แต่การวิเคราะห์ตัวเลขต้องมาพูดคุยกัน ถ้า ธปท.รู้สึกว่ามีประเด็นที่เราควรหารือกัน เรายินดี คุยได้อยู่แล้ว แต่ความคิดเห็นของเราในตอนนี้ กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ปฏิบัติการ เรารู้ว่าถ้าไม่มีมาตรการการเงินช่วย ทุกเรื่อง เช่น ราคาสินค้า กระทรวงพาณิชย์ จะดำเนินการลำบาก หน่วยงานที่รับผิดชอบอย่าง ธปท.ควรตระหนักในเรื่องนี้”
นายภูมิธรรมกล่าวย้ำว่า ขณะนี้ไม่ใช่วิกฤติทั่วไป แต่มีวิกฤติการเงินเข้ามาแทรก เพราะเรื่องมาตรการการเงิน เราเห็นหน่อที่จะเกิด และเห็นแนวที่จะมีปัญหา ฉะนั้นตรงนี้ ธปท.ต้องดูให้ละเอียด อย่าดูหรือเพ่งเล็ง เอาใจใส่เฉพาะเรื่องใด เรื่องหนึ่ง ต้องดูทั้งระบบถึงจะช่วยแก้ปัญหาได้ วันนี้จะแก้ไขวิกฤตการณ์ของประเทศได้ต้องร่วมมือ กันทุกฝ่าย ถ้าฝ่ายหนึ่งจะทำ แต่อีกฝ่ายจะยืนค้านอยู่ มันไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมที่จะเกิดขึ้น และถ้ามันเป็นปัญหาอย่างที่เรากังวล และคาดหวังไว้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นมันคือความล้มเหลวในวิกฤติที่จะเกิดขึ้น ถ้าดูก็จะเหมือนปัญหาวิกฤติต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 วิกฤตการณ์ตอนนั้น ธปท.ไม่เห็นอะไรเลย ทั้งที่ถ้าท่านดูรายละเอียดท่านก็จะเห็น ซึ่งอันนี้ก็เหมือนกัน มีนักเศรษฐศาสตร์มองว่าถ้ารัฐบาลไม่ขยับทำอะไรที่แข็งแรง และมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ วิกฤติต่างๆจะเกิดขึ้น ซึ่งวันนี้รัฐบาลมองว่า ดิจิทัลวอลเล็ต เป็นประเด็นสำคัญที่จะกระตุ้นกำลังซื้อทั้งหมดให้เกิดขึ้น.