“เศรษฐกิจไทย” อยู่ภายใต้พลวัตโลกใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งอุตสาหกรรมการผลิตของไทยยังปรับตัวไม่ทันต่อความก้าวหน้าของเทคโนโลยี
คาดการณ์กันว่า “ส่งออก” ของไทยในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า อาจเติบโตต่ำจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังหาทางแก้ไม่ได้ ประเทศเพื่อนบ้านแซงหน้า แม้แต่ภาคการเกษตร-สิ่งทอ ก็กำลังเพลี่ยงพล้ำ ขณะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์แข่งไม่ได้อีกต่อไป
เจาะมุมมอง รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ และอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กำลังสูญเสียตลาดการส่งออกและความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง เมื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในตลาดโลก ย่อมส่งผลต่อโครงสร้างการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ รัฐบาลต้องมีนโยบายที่ชัดเจนต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร และพึงตระหนักว่าเราไม่สามารถทวนกระแสธารแห่งการเปลี่ยนแปลงได้นานมากนัก จึงต้องส่งสัญญาณให้ทั้งผู้ประกอบการและแรงงานได้ปรับตัวให้ทันต่อพลวัตที่เกิดขึ้น
ขณะจุดแข็งที่เดิมทีประเทศไทยเป็นฐานการผลิต ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) สำคัญของโลก แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีคู่แข่งอย่าง โซลิดสเตตไดรฟ์ (SSD) เข้ามาแทนที ผู้ประกอบการและแรงงานในอุตสาหกรรม HDD จะปรับตัวกันอย่างไร?
อีกทั้งไม่ใช่เพียงเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์เท่านั้น ที่มีแนวโน้มน่ากังวล เพราะจากข้อมูลเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พบว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ภาพรวมเดือน ธ.ค. 66 หดตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน -6.3%
สำหรับแนวโน้มการลงทุนโดยตรงของต่างชาติ (FDI) พบปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 40% ปีที่แล้ว จากการที่ไทยมียุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนของในอุตสาหกรรมนวัตกรรมสูง
แต่มีข้อจำกัดอย่างมาก เพราะต้องอาศัยทรัพยากรมนุษย์คุณภาพสูง มีทักษะแรงงานทางด้านเทคโนโลยีขั้นสูง ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานและระบบทางด้านวิจัยและนวัตกรรมรองรับ ซึ่งเศรษฐกิจไทยยังคงขาดแคลนอยู่ รวมทั้งระบบการศึกษาไม่ตอบสนอง และมีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างองค์กรหน่วยงานส่งเสริมการลงทุน
ส่วนคำถามที่ว่า แล้วไทยจะปฏิรูประบบเศรษฐกิจอย่างไร รศ.ดร.อนุสรณ์ ชี้ว่า การปรับและปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยคงเกิดขึ้นได้ยาก หากมีปัญหาข้อจำกัดภาครัฐ
เช่น หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการสื่อสารโทรคมนาคมอย่าง กสทช. มีความขัดแย้งในระดับนโยบายและระดับบริหาร ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มศักยภาพ
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตมีความล่าช้าในการแต่งตั้งบอร์ดและผู้ว่า กฟผ. และฐานะทางการเงินของ กฟผ. ย่ำแย่ลงจากหนี้คงค้างจากรัฐบาลและแบกรับค่าเอฟที หลายรัฐวิสาหกิจไม่สามารถหาผู้บริหารมาทำงานได้
หน่วยงานของรัฐ ระบบยุติธรรมและกระบวนการยุติธรรม มีปัญหาความขัดแย้ง มีการฟ้องกันไปมา ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ความมีหลายมาตรฐานของระบบศาลรัฐธรรมนูญและศาลยุติธรรมทำให้ขาดความเชื่อมั่นศรัทธาจากประชาชน
นักลงทุนและผู้ประกอบการทั้งหมดนี้ ทำให้การปรับโครงสร้างและปฏิรูปเศรษฐกิจทำได้ยาก การปฏิรูปกิจการภาครัฐและการปรับโครงสร้างระบบองค์กรรัฐเพื่อให้เกิดการทำงานเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชน เพิ่มความโปร่งใสและระบบธรรมาภิบาลเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
“เมื่อไม่สามารถปรับโครงสร้างองค์กรภาครัฐและเศรษฐกิจได้ ไทยก็ต้องเผชิญความถดถอยของความสามารถในการแข่งขันต่อไป ติดกับดักการเติบโตต่ำไปอีกนาน และมีความยากลำบากมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความไม่เป็นธรรมทั้งหลาย”
ขณะที่ความเสี่ยงทางการเมืองเพิ่มขึ้นจากปัญหาการใช้อำนาจของสถาบันทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 หากมีการยุบพรรคก้าวไกล หรือตัดสิทธิทางการเมืองของนักการเมืองอย่างไม่เป็นธรรม ประเทศไทยอาจเข้าสู่วังวนของความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่ได้ องค์กรรัฐจะถูกตั้งคำถามมากขึ้นจากนักลงทุนต่างชาติในเรื่องระบบนิติรัฐนิติธรรม นักลงทุนต่างชาติอาจหวั่นไหวต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยไทย