นายธิบดี วัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สคร.ได้ประเมินการดำเนินงานของ บมจ.การบินไทย ซึ่งพบว่า สภาพคล่องการบินไทย เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะเกือบปกติ จึงได้ประเมินว่าการดำเนินธุรกิจการบินไทยจะเป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการที่วางเป้าหมายไว้ โดยในปี 68 บริษัทจะสามารถกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ แต่ทั้งนี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า อัตราผลกำไร 12 เดือน จะต้องมีมูลค่าเกิน 20,000 ล้านบาท และมีเงินทุนที่เป็นบวก “สำหรับสถานะของการบินไทยนั้น กระทรวงการคลังยังคงมีนโยบายที่จะให้การบินไทยไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ ถึงแม้กระทรวงการคลังจะถือหุ้น 49% ก็ตาม ทั้งนี้เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และสามารถแข่งขันในธุรกิจสายการบินได้”
นายธิบดี กล่าวว่า สำหรับสาเหตุที่ทำให้ภาพรวมธุรกิจหรือสภาพคล่องของการบินไทยดีขึ้นนั้น เป็นเพราะบริษัทได้ปรับแผนการดำเนินธุรกิจ เปลี่ยนจากการซื้อเครื่องบินเป็นการเช่า ทำให้ต้นทุนลดลง อีกทั้งที่ผ่านมายังได้ปรับลดจำนวนพนักงานลง จึงทำให้ค่าใช้จ่ายเรื่องการดูแลพนักงานลดลงด้วย ขณะเดียวกันฝ่ายบริหารได้พยายามหาลู่ทางการทำการตลาด และต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ส่งผลให้การบินไทยมีกำไรสูงสุดในรอบ 20 ปี โดยปี 66 มีกำไรเกือบ 2,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 171% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 65
และคาดว่าจะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ในไตรมาส 4 ของปีนี้ “การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวมีส่วนสำคัญต่อการฟื้นตัวของธุรกิจสายการบินมาก ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย 33.5 ล้านคน จึงเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจการบินอย่างแน่นอน และการบินไทยได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว”.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่