เศรษฐกิจไทย "โตช้า - โตต่ำ" ปัญหาเชิงโครงสร้างอยู่ตรงไหน?

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เศรษฐกิจไทย "โตช้า - โตต่ำ" ปัญหาเชิงโครงสร้างอยู่ตรงไหน?

Date Time: 2 ก.พ. 2567 10:29 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • ธปท.เปิดข้อมูล เศรษฐกิจไทย "โตช้า - โตต่ำ" ปัญหาเชิงโครงสร้างอยู่ตรงไหน? จีนขัดแย้งสหรัฐฯ ลดนำเข้าสินค้าไทย ขณะกระแส ดิจิทัล และ AI พัดแรง โลกมุ่งหน้าเศรษฐกิจสีเขียว แต่ SME ไทยยังปรับตัวไม่ทัน หรือต้องปฏิรูปครั้งใหญ่

Latest


ว่ากันว่า "ภายใต้โลกใหม่ที่เปลี่ยนเร็วและแข่งขันสูง หากปรับตัวไม่ทัน เศรษฐกิจไทยจะโตช้าลงและจะแข่งขันกับคนอื่นไม่ได้"

ประโยคนี้ คงไม่ไกลเกินจริง จากข้อมูล ข้อเท็จจริง มากมาย ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ว่าเศรษฐกิจประเทศไทย กำลังเพลี่ยงพล้ำกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว เพราะแม้ฟื้นจากโควิด-19 แล้ว แต่ก็ยังไล่ตามประเทศเพื่อนบ้านไม่ทัน ทั้งมิติของ GDP และการส่งออก 

ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยโลก แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ หากแต่เป็น ปัญหาเชิงโครงสร้างหลาย เซกเตอร์ ที่สะสมมานาน และเริ่มเห็นผลรุนแรงขึ้น 

แล้วอะไรบ้างที่เป็นปัญหาเศรษฐกิจไทย? 

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ให้เห็นถึง 2 เรื่องหลักๆ ได้แก่

1. ความสามารถแข่งขันของสินค้าไทยต่ำลง โดยเฉพาะ สินค้าการเกษตร เช่น ข้าว ที่ส่วนแบ่งทางการตลาดลดลงจาก 25% ในปี 2546 มาอยู่ที่ 13% ในปี 2565 

"ไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าวให้กับอินเดียตั้งแต่ปี 2555"

ส่วนผลผลิตกุ้ง ส่วนแบ่งของไทยลดลง จาก 14% ในปี 2555 มาอยู่ที่ 4% ในปี 2565 จากต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าคู่แข่ง อย่างเอกวาดอร์ และ อินเดีย 

ด้านความสามารถในการแข่งขันการท่องเที่ยวของไทย แม้เรายังแข่งขันได้ แต่คู่แข่งกำลังตีตื้น และบางรายแซงไทยไปแล้ว 

2. ไทยยังเสี่ยงที่จะปรับตัวไม่ทันกับกระแสโลกใหม่ที่มาเร็ว และแรงกว่าที่คาด อย่างกระแสดิจิทัล ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจสีเขียว

  • กระแสดิจิทัล ทำให้ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น ซึ่งไทยได้ประโยชน์น้อย เพราะไทยส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ปลายน้ำ มีมูลค่าเพิ่มต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ และกลางน้ำ ที่ใช้เทคโนโลยีสูง
  • การส่งออกในหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โตต่ำเพียง 4% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เทียบกับเวียดนามที่โต 37% ฟิลิปปินส์โต 14% และมาเลเซียโต 10% 
  • ภาคบริการของไทยอยู่ในโลกเก่า เช่น ท่องเที่ยว ซึ่งมี Value added น้อย เมื่อเทียบกับบริการสมัยใหม่  (Modern services) เช่น ธุรกิจการเงิน โทรคมนาคม บริการด้านสุขภาพ และการศึกษา ที่ใช้ประโยชน์จาก Digitle platform และ บริการ streaming ต่างๆ โดย modern services ต่อ GDP ของไทยอยู่ที่ 14% ต่ำกว่าฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ที่ 19% และสิงคโปร์ 33% 

โลกแบ่งขั้ว-มุ่งหน้า เศรษฐกิจสีเขียว ไทยยังปรับตัวไม่ทัน


ขณะวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงมากขึ้น ภายใต้ ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลก ที่มีการแบ่งขั้วชัดเจนขึ้น ส่งผลต่อรูปแบบการค้าเปลี่ยนไป 

โดยจีน มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก หันมาพึ่งพาตัวเองมากขึ้น เช่น ลดการนำเข้า ซึ่งกระทบต่อการส่งออกสินค้าและบริการของไทย โดยเฉพาะในหมวดเคมีภัณฑ์ และปิโตรเคมี เพราะจีนเร่งผลิตเองในประเทศ ตั้งแต่ปี 2563 

เช่นเดียวกับ กระแสเศรษฐกิจสีเขียว ที่แม้ธุรกิจขนาดใหญ่เริ่มปรับตัวไปแล้ว แต่ SME ที่มีสายป่านสั้น ยังปรับตัวได้ยาก โดยเกือบ 30% ของ GDP ภาคอุตสาหกรรมไทย (ยานยนต์ ปิโตรเลียม และปิโตรเคมี) ได้รับผลกระทบ ต้องปรับตัวรองรับกระแสความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม 

สิ่งที่ควรเร่งทำ คือ ..

  • การปรับกฎกติกาของภาครัฐ เพื่อลดต้นทุนการทำธุรกิจจากกฎเกณฑ์ที่ซ้ำซ้อน 
  • ลดอุปสรรคการดำเนินธุรกิจ และส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
  • การปฏิรูปนโยบายเชิงโครงสร้าง ที่สำคัญ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ให้เข้าถึงได้ ต้นทุนเหมาะสม 
  • การลงทุนเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
  • การสร้าง Value added 
  • การพัฒนาและปรับทักษะแรงงาน ให้สอดคล้องกับโลกดิจิทัล


"ทั้งหมด ต้องใช้เวลา และ อาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการยกระดับศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย"

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ