นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยกรณีที่บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ในเครือซีพี ซึ่งได้รับสัมปทานลงทุนและเดินรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) แต่ไม่ได้รับการต่ออายุบัตรส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หลังจากหมดอายุวันที่ 22 ม.ค.67 ว่า เอกชนสามารถยื่นอุทธรณ์ขยายเวลาต่อบีโอไอได้ ส่วนการแก้สัญญาโครงการ อยู่ระหว่างการหารือกับเอกชน และไม่ได้นำเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดอีอีซีเมื่อวันที่ 29 ม.ค.67
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานบอร์ดอีอีซี กล่าวว่า ทราบปัญหานี้แล้ว แต่รอการรายงานรายละเอียดจากคณะกรรมการ โดยให้นโยบายกับเลขาธิการอีอีซีว่า ให้ดูกรอบกฎหมายให้รอบคอบ หากดำเนินการได้ และโครงการเดินหน้าได้ก็ขอให้เร่งดำเนินการ เพราะไฮสปีดเทรนเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของอีอีซีที่จำเป็นต้องเกิดขึ้น
ส่วนที่บีโอไอจะต่อสิทธิประโยชน์ให้กับเอกชนที่ได้รับสัมปทานหรือไม่นั้น ต้องดูเงื่อนไข และข้อกฎหมาย แต่มองว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่เอกชนจะตัดสินใจว่าจะลงทุนหรือไม่ และเมื่อถามว่าหากติดขัดเรื่องงบประมาณดำเนินโครงการ เพราะเอกชนขอแก้สัญญาให้รัฐจ่ายเงินในระหว่างก่อสร้าง แทนการจ่ายเงินให้หลังสร้างเสร็จเป็นช่วง นายภูมิธรรม กล่าวว่า ต้องดูรายงานที่มีการพูดคุย และดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่า ทำได้หรือไม่
“โครงการนี้มีปัญหามาตั้งแต่อดีต วันนี้เราพยายามแก้ไขและขับเคลื่อนโครงการให้ได้ อยากเห็นโครงการเดินหน้าได้มากกว่าหยุดอยู่กับที่”
ส่วนนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า กรณีที่บีโอไอไม่ต่ออายุบัตรส่งเสริมการลงทุนให้กับโครงการไฮสปีดเทรน เพราะบริษัทยังไม่ได้ยื่นการลงทุน โดยให้เหตุผลว่าอยู่ระหว่างเจรจาแก้ไขสัญญากับภาครัฐ
ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวไม่อยู่ในระเบียบของบีโอไอ อย่างไรก็ตาม หลังการแก้สัญญากับรัฐแล้ว และบริษัทได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนอีกครั้ง บีโอไอก็จะพิจารณาให้โดยด่วน ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท เอเชีย เอรา วัน ได้ยื่นขอขยายบัตรส่งเสริมแล้ว 2 ครั้ง รวม 8 เดือน ครั้งสุดท้ายหมดอายุวันที่ 22 พ.ค.67 แต่บีโอไอไม่อนุมัติต่อใบอนุญาตให้แล้ว เพราะต่ออายุแล้ว 2 ครั้ง.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่