นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทอท.ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม และวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุนโครงการก่อสร้างสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 (สนามบินอันดามัน) คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน ส.ค.67 โดยจะใช้พื้นที่บริเวณ ต.โคกกลอย และ ต.หล่อยูง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ประมาณ 7,300 ไร่ เนื่องจากผลการศึกษาเบื้องต้นที่ ทอท.เคยศึกษาไว้ก่อนหน้านี้ พบว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสม และมีศักยภาพมากที่สุด
ทั้งนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ได้มีนโยบายที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค โดยมอบให้ ทอท. เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานต่างๆ ซึ่งสนามบินภูเก็ตเป็นอีกหนึ่งท่าอากาศยานของ ทอท.ที่มีปริมาณผู้โดยสาร และเที่ยวบินมาใช้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นายกีรติ กล่าวอีกว่า ขณะนี้สนามบินภูเก็ตมีเพียง 1 ทางวิ่ง (รันเวย์) มีขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินอยู่ที่ 25 เที่ยวบินต่อชั่วโมง (ชม.) ปัจจุบันได้ให้บริการเต็มขีดความสามารถ และไม่สามารถขยายรันเวย์ได้เพิ่มเติมแล้ว เนื่องจากพื้นที่ติดทะเล ทอท.จะมีแผนพัฒนาสนามบินภูเก็ตระยะที่ 2 งานก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ วงเงิน 5,800 ล้านบาท รองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 18 ล้านคนต่อปี เปิดบริการปี 72-73 แต่ก็สามารถรองรับเที่ยวบินได้ 25 เที่ยวบินต่อ ชม.เท่าเดิม ดังนั้น จึงต้องเร่งดำเนินการพัฒนาสนามบินอันดามัน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต และ จ.พังงา มากขึ้น
“เบื้องต้นจะใช้วงเงินลงทุน 80,000 ล้านบาท ท่าอากาศยานแห่งนี้มี 2 รันเวย์ รองรับผู้โดยสารได้ 22.5 ล้านคนต่อปี รองรับเที่ยวบินได้ 43 เที่ยวบินต่อ ชม. จะมีการจัดระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมต่อระหว่างท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานอันดามันด้วย ซึ่งทั้ง 2 แห่งอยู่ห่างกันประมาณ 23.4 กิโลเมตร (กม.) ใช้เวลาเดินทาง 26 นาที”.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่