ยกระดับนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ยกระดับนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ

Date Time: 29 ม.ค. 2567 05:32 น.

Summary

  • นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ หรือ Smart Industrial Estate ที่เริ่มต้นจาก พื้นที่ประกอบการอัจฉริยะ มีเป้าหมายใช้ความรู้และนวัตกรรมในการขับเคลื่อนบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม เป็นไปตามนโยบาย Thailand 4.0 และ Industry 4.0

Latest

HSBC ชี้เศรษฐกิจไทยโตกว่าที่คิด หลังรัฐเร่งลงทุน กระตุ้นบริโภค ต่างชาติเชื่อมั่น จ่อลงทุนไทยเพิ่ม

ตามที่รัฐบาลเซลส์แมนของ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ไปโรดโชว์การลงทุนภาคอุตสาหกรรมและการขนส่งในประเทศไทยเอาไว้มากมาย การนิคมอุตสาหกรรม หรือ กนอ. ต้องรีบวางยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมเอาไว้รองรับการพัฒนาของอุตสาหกรรมยุคใหม่โดยด่วน

ในจำนวนนั้นก็คือ นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ หรือ Smart Industrial Estate ที่เริ่มต้นจาก พื้นที่ประกอบการอัจฉริยะ มีเป้าหมายใช้ความรู้และนวัตกรรมในการขับเคลื่อนบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม เป็นไปตามนโยบาย Thailand 4.0 และ Industry 4.0 ที่มุ่งเน้นเปลี่ยนอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงในภาคอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับความร่วมมือ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน สร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า

เป็นส่วนหนึ่งของการนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพด้านสาธารณูปโภค และนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ในขณะที่การบริหารจัดการมีการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ในการพัฒนาคุณภาพการบริการ การเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และเผยแพร่ข้อมูลให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับนิคมอุตสาหกรรมและตอบสนองการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ พื้นที่ประกอบการอัจฉริยะ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

การสร้างมาตรฐานในการกำหนดแนวทางขั้นตอน และโครงสร้างการจัดการองค์กร ภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ. รวมถึงเกณฑ์การชี้วัด ในการกำหนดเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ และพื้นที่ประกอบการอัจฉริยะ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมของประเทศ จะเป็นต้นแบบให้กับนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่จะใช้ดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติและนักลงทุนในประเทศ ให้เข้ามาลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ที่สำคัญเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมาย

สำหรับมาตรฐาน นิคมอุตสาหกรรมสู่มาตรฐานสากล ด้วยนวัตกรรมยั่งยืนใน 4 มิติ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน กรอบการดำเนินงานความยั่งยืน การกำกับกิจการที่ดี และการพัฒนาเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการ ทั้งทางด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม ด้านบรรษัทภิบาล การเก็บรวบรวมวิเคราะห์ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจ พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และพัฒนาความรู้ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ประเทศไทยกำลังต้องการพึ่งพา เม็ดเงินการลงทุนและขยายการส่งออก เป็นรายได้หลักของประเทศเช่นเดียวกับการท่องเที่ยว ส่งเสริมให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมทั้งเขตอุตสาหกรรมทั่วไป และเขตอุตสาหกรรมเสรี

โดยเฉพาะการปรับรูปแบบอุตสาหกรรมของประเทศไทย ในบริบทของการออกแบบการพัฒนาให้สอดคล้องกับการดำรงชีวิตและสิ่งแวดล้อม การใช้เทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้มีประสิทธิภาพและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศในปัจจุบันและอนาคต.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ