ผู้เข้ารับการอบรม “หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) รุ่นที่ 33” ที่เพิ่งจบการศึกษาไปเมื่อสัปดาห์ ที่แล้ว ได้นำเสนอผลงานวิชาการเรื่อง “กลไกตลาดทุน เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา และการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างยั่งยืน” ผมเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ ก็เลยขอนำมาเผยแพร่ เผื่อ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน สนใจสามารถนำไปใช้เป็นนโยบายปฏิรูปการศึกษาของไทยครั้งใหญ่ได้เลย
รายงานฉบับนี้ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษาที่เป็นปัญหาของชาติ ส่งผลกระทบต่อเด็กเยาวชนไทยหลายล้านคน และมีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่าปีละ 200,000 ล้านบาท ผมจะสรุปเฉพาะประเด็นสำคัญเท่าที่จะทำได้นะครับ
รายงานวิชาการฉบับนี้ มุ่งสนับสนุนวิสัยทัศน์และพันธกิจสำคัญของ ตลาดหลักทรัพย์ และ สถาบันวิทยาการตลาดทุน ที่ต้องการส่งเสริมบทบาทการพัฒนาตลาดทุน เพื่อประโยชน์ของคนไทยทุกคน ผ่านการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคน มุ่งศึกษาโอกาสและแนวทางที่กลไกตลาดทุนไทย สามารถมีบทบาทในการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา และการพัฒนาทุนมนุษย์ ผ่านการบูรณาการทำงานร่วมกันกับกลไกภาครัฐและกลไกประชาสังคม เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืน
ในรายงานฉบับนี้ยังมี “ข้อเสนอเชิงนโยบาย” ให้กลไกตลาดทุนมีส่วนในการส่งเสริมแรงจูงใจ (Quality Signal Mechanism) ในการ ลงทุนสินค้าสาธารณะ (Public Goods) เช่น ความเสมอภาคทางการศึกษา และคุณภาพทุนมนุษย์ในประเทศไทย ทั้งมาตรการสมัครใจและมาตรการภาคบังคับ เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูล (Asymmetric Information) ที่อาจเป็นสาเหตุสำคัญของระดับการสนับสนุนเงินทุนเพื่อการศึกษาของภาคเอกชนไทย
ปัจจุบันแม้จะมี แรงจูงใจทางภาษีมากกว่า 2 เท่า แต่บริษัทเอกชนในและนอกตลาดหลักทรัพย์ กลับมีการบริจาคเงินทุนเพื่อการศึกษาเพียงร้อยละ 0.2 ของกำไรก่อนหักภาษี หรือคิดเป็น 1 ใน 10 ของวงเงินที่สามารถบริจาคได้ ผู้ยื่นแบบภาษี 11 ล้านคน มีผู้บริจาคเงินเพื่อการศึกษาเพียง 5.9% และเงินที่บริจาคก็มีเพียงน้อยนิดคิดเป็น 4.7% ของวงเงินที่ผู้เสียภาษีสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้
ข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ยังมีโอกาสอีกมากที่ภาคเอกชนและประชาชนจะสามารถมีบทบาทในการร่วมลงทุน เพื่อสนับสนุนความเสมอภาคทางการศึกษา และการพัฒนาคุณภาพทุนมนุษย์อย่างยั่งยืนได้ รายงานได้ประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยจะได้รับ หากมีการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษา เช่น ปัญหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา (ที่ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาคาดว่ามีมากกว่า 1 ล้านคน) จะได้รับการแก้ไขสำเร็จในอนาคต ข้อเสนอของ วตท.33 ในรายงานวิชาการฉบับนี้มีด้วยกัน 6 เรื่อง ดังนี้
1.สร้างแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมการลงทุน (Outcome Fund) เพื่อการศึกษา เพื่อระดมทุนจากตลาดทุนไปต่อยอด “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)” โดยทำให้แพลตฟอร์มมีระบบนิเวศของการบริจาค ประกอบด้วย
1.ผู้จ่ายเงิน (Funder) ผู้ที่มีงบประมาณ
2.ผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคม ทำโครงการที่ตอบโจทย์สังคมและได้รับกำไรที่พอเหมาะ
3.ผู้บริจาค/ผู้สนับสนุนเงินทุน (donator/ invertor) มีบทบาทในการจ่ายเงินล่วงหน้าและรับความเสี่ยงหากโครงการไม่ประสบความสำเร็จ แต่มีโอกาสได้รับเงินคืนถ้าโครงการประสบความสำเร็จ โดยอาจมีการหักภาษีเป็นแรงจูงใจ
4.ผู้ประเมินและตรวจสอบโครงการ ทำหน้าที่ประเมินโครงการตามเครื่องชี้วัด
5.ผู้ประเมินความเสี่ยงและความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการ ทำหน้าที่ประเมินความน่าเชื่อถือ
กลไกการทำงานของแพลตฟอร์ม ผู้สนับสนุนเงินทุนสามารถเลือกกระจายเงินและสนับสนุนได้มากกว่าหนึ่งโครงการ มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของวิสาหกิจเพื่อสังคม มีการประเมินผลการดำเนินการ ฯลฯ พรุ่งนี้ว่ากันต่อครับ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม