นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงการคลังคาดเศรษฐกิจไทยปี 66 ขยายตัว 1.8% ว่า ยอมรับว่าตกใจกับตัวเลขดังกล่าว เพราะเป็นการขยายตัวที่ต่ำมากเพียง 1.8% จากคาดการณ์ที่ 2.6% ทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจมีความเปราะบางมาก แต่ยังไม่ถึงวิกฤติ และมีความห่วงใยถึงการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม หากดูรายละเอียดจะพบว่าปรับตัวดีขึ้นแทบทั้งหมดเมื่อเทียบการประมาณการเดือน ม.ค.67 กับเดือน ต.ค.66 โดยเฉพาะการใช้จ่ายของประชาชนที่มากขึ้น แต่การใช้จ่ายอาจปรับเปลี่ยนจากออนไซต์ไปออนไลน์ เพราะเห็นความคึกคักของการใช้จ่ายผ่านออนไลน์ ดีลิเวอรี จึงทำให้ผู้ค้าต่างๆ และเอสเอ็มอีไม่รู้สึกว่ามียอดขายเพิ่มขึ้น กำไรเพิ่มขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลลดลง และได้ดุล
สำหรับจุดพลาดของเศรษฐกิจไทยปี 66 น่าจะมาจาก 2 ส่วนหลักคือ 1.การบริโภคและการลงทุนภาครัฐ ที่งบประมาณออกล่าช้า และเบิกจ่ายล่าช้า งบประมาณแผ่นดินในไตรมาส 4 ไม่ถูกขับเคลื่อน การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐติดขัด หรือไม่ได้ดำเนินการ ทั้งๆที่มีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มบริหารประเทศแล้ว ทำให้เห็นว่านโยบายการคลังไม่ตรงตามเป้าหมาย ส่งผลให้เศรษฐกิจขาดแรง เกิดภาวะช็อต และ 2.การส่งออกและบริการที่ลดลง ทำให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมมีกำลังการผลิตลดลง แม้ภาคบริการอย่างท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยตามเป้าหมายที่ 28 ล้านคน แต่บริการอื่นๆ รัฐต้องมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น หรือธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยกู้
“เป็นครั้งแรกที่ตกใจกับตัวเลขเศรษฐกิจของไทยที่โตเพียง 1.8% หลุดเป้าหมายไปมาก ทั้งๆที่หลายหน่วยงาน ทั้งแบงก์ชาติ กระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ธนาคารโลก ต่างคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 66 จะโตเกิน 2% ทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพมาก มีปัญหา และจำเป็นต้องการแรงกระตุ้นด่วน เพื่อไม่ให้ซึมมากไปกว่านี้”.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่