ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้หารือเต็มคณะ ร่วมกับนายฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นาย Michael Kellner รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ เยอรมนี (BMWK) และคณะผู้แทนภาคเอกชนเยอรมนี ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจาก 12 บริษัท ใน 5 สาขา ได้แก่ 1.สาขานิทรรศการงานแสดงสินค้านานาชาติ 2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ 3.พลังงานหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม 4.บริการ ดิจิทัลและการศึกษา 5.วัสดุก่อสร้าง การก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและความต้องการด้านการส่งเสริมการค้า และการลงทุน
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายก รัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประธานาธิบดีเยอรมนี กล่าวเชื่อมั่นในการร่วมกันพัฒนาอนาคตที่สดใสร่วมกัน รวมถึงชื่นชมการมีเสถียรภาพทางการเมืองของไทย ซึ่งสะท้อนว่า ไทยพร้อมเปิดกว้างสำหรับการทำธุรกิจ โดยเยอรมนีพร้อมที่จะยกระดับทางการค้าการลงทุนร่วมกัน ขณะที่นายเศรษฐาได้นำเสนอนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า เน้นนโยบายหลักหลายประการ ทั้งในด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และการปฏิรูปโครงสร้างในระยะยาว ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะส่งเสริมการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมมีโรดแม็ปที่ชัดเจนมากที่สุดในการบรรลุเป้าหมาย โดยเฉพาะด้านการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่างๆ เช่น การพัฒนาสนามบิน การพัฒนาระบบรางรถไฟ โครงการแลนด์บริจด์ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงความสะดวกในการทำธุรกิจ สำหรับภาคเอกชนต่างชาติในไทย ซึ่งไทยเปิดรับการทำธุรกิจได้อย่างอิสระ มาตรการจูงใจทางภาษี รวมไปถึงด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเยอรมนีถือเป็นผู้นำระดับแนวหน้าของโลก ไทยพร้อมจะยกระดับการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA)
ขณะเดียวกัน ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย ได้กล่าวสรุปข้อหารือที่ได้จากคณะผู้แทนภาคเอกชนเยอรมนีร่วมกับหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องว่า ผลการหารือเป็นไปได้ด้วยดี พร้อมเน้นย้ำถึงกระบวนทัศน์ทางเศรษฐกิจใหม่ของไทยในประเด็นต่างๆ ได้แก่ 1.การทำให้ประเทศไทยเป็นทางเลือกสำคัญในการลงทุนในฐานะแหล่งผลิตและภาคอุตสาหกรรมที่มีพลังงานสะอาด, 2.การนำเสนอด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งไทยมีฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ซึ่งเชื่อมั่นว่าการมีส่วนร่วมของบริษัทรถยนต์เยอรมนี จะสามารถเปลี่ยนผ่านสู่ภาคการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้ในประเทศไทย 3.การพัฒนาดิจิทัลไทยมีเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค 4.การส่งเสริมด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ซึ่งหารือร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะบริษัทด้านการผลิตไมโครชิปและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคตสำหรับอุตสาหกรรม EV
5.การสนับสนุนความยั่งยืน ไทยมีเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutra lity) ภายในปี ค.ศ.2050 โดยภายในเดือน ก.พ.นี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างการสร้างอัตราภาษีสีเขียว (Green Tariff) แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมไปถึงการสร้างพลังงานหมุนเวียน ซึ่งทางบริษัทเยอรมนีหลายแห่งให้ความสนใจด้านพลังงานหมุนเวียน และ 6. ด้านการเจรจา FTA เน้นย้ำการเจรจาร่วมกับสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับพลังงานสีเขียว
ทั้งนี้ประธานาธิบดีเยอรมนี ได้ตอบข้อซักถาม ของผู้สื่อข่าวถึงการย้ายฐานการผลิตของธุรกิจต่างๆว่า ไทยได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิต ซึ่งมีโรงงานจำนวนหนึ่งในเวียดนามที่จะย้ายมาสู่ประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ จากอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นกูเกิลหรือบริษัทรายใหญ่ที่ย้ายมาอยู่ในประเทศไทย “ในภาคธุรกิจได้มุ่งการลดความพึ่งพาฝ่ายเดียวที่จะต้องไปผูกพันกับประเทศจีน โดยขยายการลงทุนมายังประเทศอื่นๆ และย้ายมาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเวียดนามและไทยเป็นประเทศที่น่าดึงดูด สำหรับนักลงทุน ซึ่งจากการหารือกับทีมไทยมีข้อได้เปรียบ ที่ให้การสนับสนุนความร่วมมือทางการค้า กับบริษัทที่มาจากอียูและเยอรมนี โดยเห็นได้จากนโยบายและข้อบังคับ ต่างๆที่เอื้อประโยชน์ในการทำการค้า ซึ่งสิ่งต่างๆ ที่พูดถือเป็นปัจจัยที่จะทำให้ร่วมมือกันได้”.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่