เศรษฐกิจไทยวันนี้มีการฟื้นตัวค่อนข้างดี โดยเฉพาะ ภาคการท่องเที่ยว ที่เป็นเครื่องยนต์หลัก ฟื้นตัวกว่า 90% เมื่อเทียบกับก่อน โควิด ทั้งธุรกิจบริการ ร้านอาหาร โรงแรม ที่พัก และการเดินทาง จนเที่ยวบินไม่เพียงพอ ทำให้ค่าตั๋วโดยสารแพงลิ่ว แต่คนก็ยังเดินทาง ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี ระบุว่า รายได้การท่องเที่ยวปี 2567 ฟื้นตัวเกือบสมบูรณ์กว่า 90% แล้ว คาดมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 33 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 1.75 ล้านล้านบาท เสนอให้รัฐบาลกระตุ้นการท่องเที่ยวให้ตรงกลุ่ม เร่งขยายโครงข่ายคมนาคมให้สะดวกและปลอดภัย เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวไปเที่ยวซํ้าในภูมิภาคอื่นได้
การท่องเที่ยวในปี 2566 ก็พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นักท่องเที่ยวในประเทศ 254.4 ล้านคน–ครั้ง สร้างรายได้กว่า 800,000 ล้านบาท และ นักท่องเที่ยวต่างชาติ 28 ล้านคน สร้างรายได้ราว 1.4 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ปี 2566 ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 2.2 ล้านล้านบาท แม้จะไม่ถึงเป้าที่รัฐบาลตั้งไว้ 2.4 ล้านล้านบาทก็ตามปี 2567 รัฐบาลคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 2.5 ล้านล้านบาท แต่ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี คาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 33.1 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 1.75 ล้านล้านบาท แต่ค่าใช้จ่ายต่อทริปเฉลี่ยจะสูงขึ้น แนวโน้มวันพักก็เพิ่มมากขึ้น ตัวเลขนี้ไม่รวม นักท่องเที่ยวจีน ที่คาดว่าจะกลับมาราว 5.7 ล้านคน คิดเป็น 52% เมื่อเทียบกับก่อนโควิด เนื่องจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจในประเทศจีนเอง คนหนุ่มสาวจีนวัย 16–24 ปี ก็ว่างงานกันมากกว่า 20%
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี สรุปว่า รายได้จากการท่องเที่ยวปี 2567 จะมีมูลค่า 2.75 ล้านล้านบาท (จากนักท่องเที่ยวในประเทศ 1 ล้านล้านบาท นักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.75 ล้านล้านบาท) ตํ่ากว่าที่ภาครัฐตั้งเป้าไว้ที่ 3.5 ล้านล้านบาท เกือบ 8 แสนล้านบาท พร้อมกับแนะนำให้รัฐบาลเร่งพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมที่ปลอดภัย สามารถเชื่อมโยงกับภูมิภาคต่างๆได้ง่าย เพื่อให้การเดินทางง่ายขึ้น จะได้ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวไปเที่ยวต่อในภูมิภาคอื่นๆได้ง่าย
การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเกือบ 100% ในปีนี้ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในประเทศหลายภาคส่วน เช่น ธุรกิจบริการ การขนส่ง การเดินทาง โรงแรม ร้านอาหาร แหล่งบันเทิงต่างๆ (ยกเว้นการส่งออก) เกิดการจ้างงานมากมาย แต่ก็ยังได้ยินเสียงบ่นเรื่องขาดแคลนแรงงาน แม้ค่าจ้างแรงงานจะแพงขึ้นก็ตาม แต่ไปไหนมาไหนผู้คนก็มีความคึกคักทุกแห่ง โดยเฉพาะร้านอาหารอร่อย ร้านอาหารชื่อดัง แม้จะมีราคาแพงแต่ก็เต็มต้องจองล่วงหน้าเท่านั้นจึงจะได้รับประทาน แล้วทำไมคนไทยส่วนใหญ่จึงยังมีความรู้สึกว่า “เศรษฐกิจไม่ค่อยดี” โดยเฉพาะในปี 2567 นี้ วันนี้มีคำตอบครับ
ผมเพิ่งอ่านบทสัมภาษณ์ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ใน วารสารการเงินธนาคาร ฉบับมกราคม อ่านแล้วก็ถึงบางอ้อ
ดร.เศรษฐพุฒิ ระบุว่า การที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าจนทำให้คนรู้สึก เป็นผลสะสมมาจากวิกฤติช่วงโควิด ซึ่งทำให้รายได้ของคนหายไปอย่างมหาศาล ที่เห็นได้ชัดคือภาคการท่องเที่ยว ก่อนโควิดเรามีนักท่องเที่ยวปีละ 40 ล้านคน แต่ช่วง 20 เดือนจากปี 63 นักท่องเที่ยว ลดเหลือ 4 แสนคน รายได้ที่หายไปค่อนข้างหนัก เป็นผลทำให้เกิดหนี้ และค่าครองชีพเพิ่มขึ้น แม้เงินเฟ้อจะลดลงแล้ว แต่ราคาของที่ขึ้นไปก่อนหน้านี้ไม่ได้กลับลงมา จึงเป็นที่มาที่ทำให้รู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดี และที่สำคัญก็คือ มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่ทำให้การฟื้นตัวไม่ได้กลับมาเหมือนเดิมก่อนโควิด
เช่น การบริโภค 3 ไตรมาสแรกปี 66 ขยายตัวสูงถึง 7–8% แต่การเติบโตไปอยู่ที่ออนไลน์ ผู้ค้าแบบเดิมจึงรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังไม่ดี เป็นต้น
นี่คือ ความจริงในโลกใหม่หลังโควิด ที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ใครที่ยังค้าขายอยู่ในโลกใบเดิมก่อนโควิด ก็จะรู้สึกว่าค้าขายไม่ดี แต่คนที่ค้าขายบนโลกออนไลน์กลับขายดิบขายดี แม้แต่โฆษณาก็ยังหนีไปโฆษณาในโลกออนไลน์มากกว่าบนจนทีวีเลย ถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องเร่ง Upskill และ Reskill คนไทยเป็นการเร่งด่วนแล้วครับ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ "หมายเหตุประเทศไทย" เพิ่มเติม