นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมบูรณาการการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน ร่วมกับผู้ว่าราชการ 6 จังหวัดและภาคเอกชนในพื้นที่ (กรอ.อันดามัน) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบนำเสนอโครงการที่มีความพร้อมดำเนินการได้ทันทีใน 1 ปี (ควิกวิน) รวม 20 โครงการ วงเงิน 797 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการภาครัฐ 13 โครงการ วงเงิน 350 ล้านบาท และภาคเอกชน 7 โครงการ วงเงิน 447 ล้านบาท เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) วันที่ 23 ม.ค.67 พิจารณาและมอบหมายสำนักงบประมาณจัดสรรวงเงินให้ต่อไป
สำหรับ 13 โครงการรัฐ เช่น กลุ่มจังหวัดอันดามัน 2 โครงการ วงเงิน 50 ล้านบาท เช่น โครงการผนึกกำลังผู้ประกอบการทางการค้ากับเศรษฐกิจท่องเที่ยวอันดามันเชิงสร้างสรรค์ 33.2 ล้านบาท ฯลฯ, จ.สตูล 50 ล้านบาท 3 โครงการ เช่น โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร เทศบาลตำบลกำแพง 19.9 ล้านบาท ฯลฯ, จ.กระบี่ 1 โครงการ 50 ล้านบาท คือโครงการเพิ่มศักยภาพการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินของเมืองท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ
ขณะที่ จ.ภูเก็ต 2 โครงการ 50 ล้านบาท เช่น โครงการปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่ฝังกลบขยะมูลฝอย ณ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลนครภูเก็ต 35 ล้านบาท ฯลฯ จ.ตรัง 2 โครงการ 50 ล้านบาท เช่น โครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือควนตุ้งกู 25 ล้านบาท ฯลฯ, จ.พังงา 2 โครงการ 50 ล้านบาท เช่น โครงการท่าเทียบเรืออัจฉริยะจังหวัดพังงา 42 ล้านบาท ฯลฯ สำหรับโครงการ 7 โครงการภาคเอกชน เช่น โครงการปรับปรุงและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานถนนท่องเที่ยวชุมชนเกาะยาวใหญ่ เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ท้องถิ่น จ.พังงา 55 ล้านบาท เป็นต้น
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ลงพื้นที่ก่อนการประชุม ครม.สัญจร โดยเป็นสักขีพยานการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ซื้อขายมังคุด 2 คู่ ปริมาณ 2,250 ตัน เกิดมูลค่า 65 ล้านบาท เพื่อส่งออกมังคุดเกรดเอจากนครศรีธรรมราชไปจีน และพร้อมขยายไปสู่จังหวัดอื่นในภาคใต้เพื่อส่งออกไปญี่ปุ่น
ส่วน น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่ดูการบริหารจัดการบ่อน้ำร้อนรักษะวาริน ซึ่งเป็นบ่อน้ำแร่ร้อนแหล่งเดียวในประเทศ ที่ไม่มีสารกำมะถัน ทำให้ได้น้ำแร่ใส ไม่มีกลิ่นกำมะถัน และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาแหล่งน้ำพุร้อนของไทยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยมอบหมายให้กรมการท่องเที่ยวดำเนินการโดยด่วน ในการยกระดับสู่ Spa Town แบบยุโรป หรือ Onsen Town แบบญี่ปุ่น เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจน้ำพุร้อนที่สร้างรายได้ให้คนในท้องถิ่น โดยเฉพาะเมืองรอง
“การพัฒนาจะต้องเชื่อมโยงแหล่งน้ำพุร้อนในจังหวัดใกล้เคียงทั้งระบบให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวสายน้ำพุร้อน หรือสายเวลเนส เบื้องต้นมอบให้กรมการท่องเที่ยวออกแบบ 7 เส้นทาง เพื่อสร้างแบรนด์สู่ตลาดสากล”
ขณะที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม กล่าวว่า กระทรวงมีแผนพัฒนาระบบคมนาคมของระนอง ทั้งขยายถนน 4 ช่องจราจร และพัฒนาสนามบินระนอง พร้อมผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ โดยให้เอกชนลงทุน 100% ภาครัฐจะเวนคืนพื้นที่ให้ ซึ่งผลการศึกษา พบว่า แลนด์บริดจ์จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวไม่ต่ำกว่า 5.5% เกิดการจ้างงานในระนอง และชุมพรกว่า 280,000 อัตรา ส่วนโครงการแนวเส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน (Andaman Riviera) ช่วงระนอง-สตูล เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดอันดามันนั้น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้รับงบประมาณปี 66 ศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นและออกแบบแล้ว.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่