เศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอีกปีแห่งความหวัง หลังจากผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 แต่สถานการณ์ยังไม่น่านิ่งนอนใจ เมื่อหลายสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจ ประเมินว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวมาเป็นลำดับ แต่ก็ไม่ได้ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง และในบางเซคเตอร์ก็ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่
หากพิจารณาจากมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา ถึงแนวคิดนโยบายแบงก์ชาติ ซึ่งได้กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไว้ว่า
“เศรษฐกิจฟื้นตัวมาระดับหนึ่งแล้วในหลายมิติ โดยเฉพาะการบริโภค จำนวนผู้มีงานทำ รายได้ลูกจ้างนอกภาคเกษตร แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง โดยการส่งออกและการผลิตยังฟื้นตัวต่ำกว่าคาด ส่วนหนึ่งเพราะปัญหาเชิงโครงสร้างมีผลเร็วและแรงกว่าที่เคยมองไว้เดิม”
“(หาก) มองไปข้างหน้า การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีแรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศ แต่เผชิญความท้าทายจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่รุนแรงขึ้น เช่น ความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออกไทยที่ลดลง นโยบายของจีนที่เน้นพึ่งพาการผลิตภายในประเทศมากขึ้น ดังนั้นอุปสงค์ในต่างประเทศที่ฟื้นตัวอาจไม่ได้ส่งผลดีต่อภาคส่งออกไทยมากดังเช่นในอดีต”
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้สภาพแวดล้อมทำธุรกิจปี 2567 ยังท้าทาย
ขณะที่ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกบทวิเคราะห์เรื่อง “ธุรกิจรุ่ง-ร่วง ปี 2567” โดยระบุว่า สภาพแวดล้อมการทำธุรกิจปี 2567 ยังท้าทาย โดยเจ้าของกิจการที่ทำการค้าระหว่างประเทศจะยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจหลักในโลกที่ไม่สดใส โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่อาจจำเป็นต้นเริ่มปรับวงจรดอกเบี้ยเป็นทิศขาลง เพื่อดูแลเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปีที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและจีนต้องประคับประคองปัญหาอสังหาริมทรัพย์ที่เรื้อรัง ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นจากขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์โลก ทั้งอิสราเอล-ฮามาส และรัสเซีย-ยูเครน
ส่วนเจ้าของกิจการที่พึ่งพากำลังซื้อของคนในประเทศ อาจได้แรงหนุนบางส่วนจากมาตรการภาครัฐที่ดำเนินการผ่านงบประมาณประจำปี แต่ด้วยความสามารถในการใช้จ่ายของครัวเรือนและธุรกิจส่วนใหญ่ยังไม่ฟื้นตัวดี ค่าครองชีพและหนี้สะสมสูง ทำให้สุทธิแล้ว การใช้จ่ายในประเทศอาจฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ยอดขายของกลุ่มนี้ก็อาจเติบโตไม่ได้มากเช่นกัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 อาจขยายตัว 3.1% (กรณีฐาน) ขณะที่ประเมินว่า การส่งออกปี 2567 จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากปีก่อนหน้า และจะกลับมาขยายตัวได้ที่ระดับ 2.0% ตามทิศทางการค้าโลก รวมถึงวัฏจักรของอุปสงค์สินค้าต่างๆ และฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า
กกร.ย้ำเศรษฐกิจทรง K-Shaped ต้องดูแลกลุ่ม K-ขาลง
มุมมองต่อเศรษฐกิจไทยปี 2567 ยังเป็นปมใหญ่ ที่หลายฝ่ายยอมรับว่า “ฟื้นตัวแต่ไม่ทั่วถึง” เช่นมุมมองจาก กกร.หรือคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ก็มีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้ว่า เป็นการฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ในลักษณะ K-Shaped โดยบางภาคส่วนมีรายได้กลับมาเป็นปกติ สามารถบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นได้ แต่ก็มีบางส่วนยังมีรายได้น้อยกว่าปกติและฟื้นตัวช้า ประสบความยากลำบากในการบริหารจัดการต้นทุนการเงิน
โดยกลุ่มที่ กกร.ระบุว่า เป็น K-ขาลง ได้แก่ กลุ่มที่กำลังทยอยฟื้นตัว เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร และสายการบิน กับอีกกลุ่มคือกลุ่มที่ฟื้นตัวได้น้อยจากการขาดความสามารถในการแข่งขัน ปรับตัวไม่ทันหรือเผชิญกับ Disruption จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภค เช่น ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ให้เช่า ขนส่งและโลจิสติกส์ และ SMEs ขนาดเล็ก
โดยเฉพาะ SMEs ขนาดเล็ก ซึ่งพบว่า ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และยังฟื้นตัวได้ช้า ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อเต็มที่ โดยตามข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (สสว.) ระบุว่า SMEs ขนาดเล็กมีทั้งหมด 415,722 ราย และในจำนวนนี้มีธุรกิจที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนสถาบันการเงิน 216,496 ราย หรือคิดเป็น 52% และ สสว. พบว่า ธุรกิจกลุ่มนี้ต้องการเข้าถึงสินเชื่อมากกว่าการพักชำระหนี้
อย่างไรก็ตาม บางธุรกิจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภค และอาจทำให้ SMEs จำนวน 1 ใน 5 อาจไม่กลับมาดำเนินธุรกิจอีกครั้ง
กสิกรไทยยืนหยัดต่อเนื่อง ใช้ 2 มาตรการเชิงรุกช่วยลูกค้า
การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญที่ธุรกิจธนาคารพาณิชย์มีส่วนร่วมดูแล
ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะสถาบันการเงินที่เป็นกลไกหลัก เป็นแหล่งเงินทุนสำคัญในการดำเนินธุรกิจและการดำรงชีวิตของคนไทย จึงมีความมุ่งมั่นยืนหยัดช่วยเหลือลูกค้า SMEs และลูกค้ารายย่อยมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านมาตรการแบ่งเบาภาระหนี้ มาตรการเสริมสภาพคล่องด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
ด้วยความมุ่งมั่นดูแลและช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้น ผ่านมาตรการช่วยเหลือและช่องทางต่างๆ ที่เหมาะสมกับลูกค้า โดยคำนึงถึงศักยภาพและโอกาสในการปรับตัวในอนาคต เพื่อช่วยกันประคับประคองลูกค้าที่มีศักยภาพให้สามารถก้าวผ่านสถานการณ์ที่มีความผันผวนโดยไม่สะดุด และสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
ผ่านการทำงานเชิงรุกด้วยมาตรการสำคัญ 2 ด้าน
หนึ่ง : มาตรการแบ่งเบาภาระหนี้ให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิด ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น พักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย
โดยในช่วงโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ธนาคารกสิกรไทยช่วยเหลือลูกค้ากว่า 1.6 ล้านราย คิดเป็นวงเงินการช่วยเหลือภายใต้มาตรการตามแนวทาง ธปท.กว่า 428,000 ล้านบาท
แม้จำนวนลูกค้าตามมาตรการช่วยเหลือทยอยลดลงตามสถานการณ์โควิดที่คลี่คลายในแต่ละปีที่ผ่านมาตามลำดับ แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความท้าทายและขยายตัวไม่ทั่วถึง ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยยังคงช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง
โดยในไตรมาส 3/2566 ธนาคารมีลูกค้าที่อยู่ในมาตรการช่วยเหลือแบบเบ็ดเสร็จตามแนวทาง ธปท.คิดเป็นยอดสินเชื่อกว่า 166,000 ล้านบาท
สอง : มาตรการเสริมสภาพคล่องให้กับลูกค้าที่ต้องการสินเชื่อเพิ่มเติม ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ได้แก่
● สินเชื่ออัตราดอกเบี้ย 0% ระยะเวลา 1 ปี เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีที่ธุรกิจชะลอตัว และทำให้สามารถรักษาการจ้างงานเป็นจำนวนมาก
● สินเชื่ออัตราดอกเบี้ย 1% ระยะเวลา 5 ปี เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบหนักจากธุรกิจที่ต้องหยุดชะงัก
● สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 2% ระยะเวลา 2-5 ปี สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กที่มีศักยภาพ เพื่อลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ
● วงเงินสินเชื่อต่อรายต่ำกว่า 1 ล้านบาท สำหรับลูกค้ารายย่อย เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงสินเชื่อและบริการการเงินในระบบให้กับลูกค้ารายย่อย
ขณะเดียวกัน ธนาคารกสิกรไทยยังคงมุ่งมั่นดูแลช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถก้าวผ่านวิกฤติและเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งในการดำเนินธุรกิจและการดำรงชีพ โดยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบและต้องการความช่วยเหลือสามารถดำเนินการติดต่อผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคารได้