จับตา ไทยผงาด บน “แผนที่โลก” หลังพบ แร่ลิเทียม 14 ล้านตัน มากเป็นเบอร์ 3 ของโลก ตัวเร่ง "ฮับ EV"

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

จับตา ไทยผงาด บน “แผนที่โลก” หลังพบ แร่ลิเทียม 14 ล้านตัน มากเป็นเบอร์ 3 ของโลก ตัวเร่ง "ฮับ EV"

Date Time: 19 ม.ค. 2567 11:20 น.

Video

"CINDY CHAO The Art Jewel" สองทศวรรษอัญมณีศิลป์ | Brand Story Exclusive EP.4

Summary

  • จับตา ประเทศไทยผงาด บน “แผนที่โลก” หลังกระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศ ไทยพบแร่ลิเทียม 14 ล้านตัน ในจังหวัดพังงา ปริมาณมากเป็นอันดับ 3 ของโลก ตัวเร่ง ดีทรอยต์ “รถ EV” แห่งเอเชีย หลังต่างชาติแห่ลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตสำหรับรถ EV ในไทยอย่างคึกคัก ก่อน กพร. ชี้แจง ข่าวแร่ลิเทียมภายหลัง ว่า ข้อมูลตัวเลข คลาดเคลื่อน แต่เตรียม ค้นหาแหล่งลิเทียม เพิ่มเติมในจังหวัดอื่นๆต่อไป

นับเป็นข่าวดีของประเทศไทย หลังรัฐบาลประกาศ ข่าวใหญ่ ว่า ไทยพบ “แร่ลิเทียม” กว่า 14,800,000 ล้านตัน ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศ ที่ค้นพบแร่ดังกล่าว มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากโบลิเวีย และอาร์เจนตินา  

ซึ่งมาจากความสำเร็จของการศึกษา-สำรวจ อย่างเข้มข้น ของกระทรวงอุตสาหกรรม ก่อนพบ แหล่งแร่ลิเทียม ที่มีศักยภาพ 2 แหล่งด้วยกัน ได้แก่ 

  • แหล่งเรืองเกียรติ จ.พังงา
  • แหล่งบางอีตุ้ม จ.พังงา

อีกทั้ง ล่าสุดไทยยังได้ ค้นพบ “แหล่งแร่โซเดียม” ในพื้นที่ภาคอีสานปริมาณสำรองอีกจำนวนมาก ทำให้ความฝัน ที่จะทำให้ไทยกลายเป็นหมุดหมายที่สำคัญยิ่งใน “แผนที่โลก” ก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางและฐานการผลิตแบตเตอรี่ EV เกิดขึ้นได้ไม่ยาก 

แร่ ลิเทียม-โซเดียม วัตถุดิบสำคัญ ผลิต “แบตเตอรี่ รถ EV” 

ก่อนหน้า เชื่อว่าหลายคน คงได้อ่านข่าว อินเดียค้นพบ “แร่ลิเทียม” ปริมาณมหาศาล และจะกลายเป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ และ EV เท่ากับตอนนี้ ประเทศไทยก็มีลุ้นเช่นเดียวกัน จากความพร้อมของห่วงโซ่ ผลิตและจัดจำหน่าย รถยนต์ EV ที่มีความเข้มแข็งมากขึ้น จากเดิมทีที่ไทยเป็นฐานผลิตยานยนต์แห่งสำคัญของโลกอยู่ก่อนแล้ว 

เพราะแร่ลิเทียม กำลังเป็นที่ต้องการในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์โลก โดยประเมินกันว่าความต้องการลิเทียมทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าภายในปี พ.ศ. 2568 และจะต้องการมากกว่า 2 ล้านตันภายในปี 2573 แต่เป็นแร่ที่ “หายาก” ยิ่งกว่าน้ำมัน 

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2021 หรือ ปี 2564 ราคาของลิเทียมโลก ได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ขณะ Elon Musk ผู้บริหารบริษัท Tesla ได้เคยกล่าวไว้ว่า การทำเหมืองลิเทียมก็เหมือนกับมี “ใบอนุญาตพิมพ์เงิน (ธนบัตร)” เพราะโลหะแอลคาไลน์ชนิดนี้เป็นแร่สำคัญในการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ (ลิเทียมไฮดรอกไซด์) 

หนึ่งในชิ้นส่วนที่สำคัญที่สุดของรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) ท่ามกลางผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ๆของโลก พยายามทดลองใช้โซเดียมมาแทนการใช้งานลิเทียมในการผลิตแบต EV แทน


เทียบคู่แข่งสำคัญของไทยในภูมิภาค อย่าง อินโดนีเซีย ซึ่งขณะนี้ นักลงทุนจากจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ มีความสนใจ ที่จะใช้อินโดนีเซียเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ เนื่องจาก อินโดนีเซีย เป็นแหล่งผลิตแร่นิกเกิลรายใหญ่ของโลก ซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดถึง 1 ใน 4 

ยอดขอลงทุน โรงงานผลิตแบตรถ EV พุ่ง 

เจาะปัจจุบัน BOI รายงาน ว่า ภายใต้มาตรการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทย นอกจากมีนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเป็นค่ายรถ EV ใหญ่ระดับโลก เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทยแล้ว ยังมีการขอลงทุนตั้งโรงงานประกอบและผลิตแบตเตอรี่ 20 โครงการ จาก 13 บริษัท เงินลงทุน 9,400 ล้านบาท (นักลงทุนไทย/ต่างชาติ)

แบ่งเป็น การผลิตแบตเตอรี่ความจุสูง สำหรับ EV และ Energy Storage 8 โครงการ จาก 8 บริษัท เงินลงทุน 9,300 ล้านบาท และการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถไฟฟ้า เช่น Traction Motor ระบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) ระบบควบคุมการขับเคลื่อน (DCU) ระบบและอุปกรณ์อัดประจุไฟฟ้า 16 โครงการ จาก 14 บริษัท เงินลงทุน 5,120 ล้านบาท

เจาะการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า หลังจากปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งจัดว่าเป็นปีแห่งการเติบโต รุดหน้าของตลาดรถยนต์ BEV หรือ รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ ในไทยแล้ว เชื่อว่า ปี 2567 การทยอยเข้ามาเพิ่มเติมของรถ EV ค่ายใหม่ๆ ในตลาด จะส่งผลให้ตลาดยิ่งจะมีความคึกคักขึ้น โดยรถยนต์ BEV น่าจะมีโอกาสทำยอดขายในกรณีฐานได้เพิ่มขึ้นไปถึง 85,000 คัน ยิ่งเชื้อเชิญให้ต่างชาติ ในกลุ่มห่วงโซ่การผลิตทั้งหมด เข้ามาลงทุนในประเทศไทย 

ขณะการค้นพบแร่ลิเทียมในไทยครั้งนี้ อาจตอบคำถามที่ตั้งไว้ว่า ประเทศไทย จะได้ประโยชน์ หรือนำตัวเองเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่การผลิตและจำหน่ายรถ EV ที่คึกคักของต่างชาติได้อย่างไร ท่ามกลาง ภาครัฐกำลังสนับสนุนอย่างเต็มที่ ในการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทย มุ่งสู่ ‘HUB ยานยนต์ไฟฟ้าแห่งภูมิภาคเอเชีย’ 

กพร.แจงแล้ว ข่าวไทยพบแหล่งแร่ลิเทียม ข้อมูลคลาดเคลื่อน

อย่างไรก็ตาม อัปเดต เมื่อเวลา 17.30 น.ที่ผ่านมา กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ออกหนังสือชี้แจง ข่าวผลการสำรวจแหล่งลิเทียมในประเทศไทย ว่า ตามที่มีข่าวเผยแพร่ว่ามีการพบแหล่งลิเทียมในประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งแร่จากหินแข็งในพื้นที่แหล่งเรืองเกียรติ อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา โดยแหล่งลิเทียมเรืองเกียรติมีปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ (Mineral Resource) ประมาณ 14.8 ล้านตัน ที่เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% หรือมีปริมาณลิเทียมคาร์บอเนตเทียบเท่า (LCE) ประมาณ 164,500 ตัน หากออกแบบแผนผังการทำเหมืองอย่างเหมาะสมและสามารถนำแร่ขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ 25 % คาดว่าจะสามารถนำลิเทียมมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน นั้น


กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ขอชี้แจงว่า คำว่า Mineral Resource มีความหมายถึงปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ ซึ่งแตกต่างจากคำว่า Lithium Resource ซึ่งหมายถึงปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียม ดังนั้น การนำข้อมูลปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ไปเปรียบเทียบกับปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียมของต่างประเทศ จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าประเทศไทยมีปริมาณแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกได้

สำหรับชนิดของแร่ที่พบในประเทศไทยในขณะนี้เป็นแร่เลพิโดไลต์ (lepidolite) ที่พบในหินเพกมาไทต์ (pegmatite) และมีความสมบูรณ์ของลิเทียมหรือเกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% แม้จะมีความสมบูรณ์ไม่สูงมาก แต่ก็ถือว่ามีความสมบูรณ์กว่าแหล่งลิเทียมหลายแห่งทั่วโลก และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการแต่งแร่ที่ความสมบูรณ์ดังกล่าวได้คุ้มค่า อีกทั้งแร่ลิเทียมมีความสัมพันธ์กับแหล่งแร่อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ดีบุกและธาตุหายากอื่น ซึ่งประเทศไทยเป็นแหล่งดีบุกที่สำคัญในอดีต จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพบแหล่งลิเทียมเพิ่มเติมหากมีการสำรวจในอนาคต


ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีผู้ได้รับอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจลิเทียมจำนวน ๓ แปลง ในพื้นที่จังหวัดพังงา และมีคำขออาชญาบัตรเพื่อสำรวจลิเทียมในพื้นที่จังหวัดอื่นอีก เช่น จังหวัดราชบุรี และ จังหวัดยะลา โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จะเร่งรัดให้เกิดการสำรวจลิเทียมและแร่หายากเพิ่มขึ้น ให้ประเทศไทยมีข้อมูลพื้นฐานสำหรับการทำเหมืองลิเทียม เพื่อรองรับการเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคต่อไป

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ