10 ผู้ทรงอิทธิพลระดับโลกที่เซลส์แมนเศรษฐาเจอที่ดาวอส อยากให้มาลงทุนในไทยมากที่สุด

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

10 ผู้ทรงอิทธิพลระดับโลกที่เซลส์แมนเศรษฐาเจอที่ดาวอส อยากให้มาลงทุนในไทยมากที่สุด

Date Time: 18 ม.ค. 2567 12:43 น.

Video

ดร.พิพัฒน์ KKP กระเทาะโจทย์เศรษฐกิจไทย บุญเก่าเจอความเสี่ยง บุญใหม่มาไม่ทัน

Summary

  • นายเศรษฐา ทวีสิน พบปะหารือกับบุคคลชั้นนำที่ทรงอิทธิพลทางธุรกิจระดับโลกหลากหลายอุตสาหกรรม นำเสนอศักยภาพประเทศไทย พร้อมชวนลงทุนในประเทศ ณ ศูนย์ประชุม Congress Centre เมืองดาวอส วันที่ 17 มกราคม 2567

ไทยมีหน้ามีตาบนเวทีโลกในรอบ 12 ปี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เข้าพบปะหารือกับบรรดาบุคคลผู้ทรงอิทธิพลทางธุรกิจ เศรษฐกิจ ทั้งผู้บริหารองค์กรธุรกิจชั้นนำและธนาคารระดับโลก ณ ศูนย์ประชุม Congress Centre เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 นำโดย

ศาสตราจารย์ เคล้าส์ ชวาป (Prof. Klaus Schwab) ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร World Economic Forum 

นายกรัฐมนตรีและนายเคล้าส์ ชวาป พูดคุยกันถึงโอกาสที่ได้เข้ามาร่วมประชุม WEF ในครั้งนี้ โดยศาสตราจารย์เคล้าส์ ชวาป ได้กล่าวขอบคุณที่เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในรอบ 12 ปี ที่มาเข้าร่วมการประชุม WEF ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับภาคธุรกิจ ที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับการค้า การลงทุน นอกจากนั้น ยังได้มอบกระดิ่งคล้องคอวัว (cowbell) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นที่ระลึกแก่นายกรัฐมนตรีอีกด้วย 

บิล เกตส์ (Bill Gates) ผู้ก่อตั้งและประธานของ Microsoft 

นายกรัฐมนตรีได้พบปะกับนายบิล เกตส์ และมีโอกาสนำเสนอศักยภาพของประเทศและความเป็นไปได้ในการเปิด Data Center ของ Microsoft ในไทย โดยอ้างอิงจากที่เคยพูดคุยกับ นายสัตยา นาเดลลา (Satya Nadella ซีอีโอคนปัจจุบันไปแล้วที่ซานฟรานซิสโก พร้อมกล่าวถึงความหวังที่ต้องการการได้บริษัทใหญ่มาลงทุนเปิด Data Center ในประเทศ ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลาง Data Center ของภูมิภาค

โกตัม อดานี (Gautam Adani) ผู้ก่อตั้งและประธานของ Adani Group 

นายกรัฐมนตรีได้เข้าพบกับ Adani group กลุ่มบริษัทลงทุนที่ใหญ่มากของอินเดีย เชี่ยวชาญในการพัฒนาท่าเรือและสนามบิน ซึ่งได้หารือกันในเรื่องการลงทุนในโครงการ Landbridge ที่เชื่อมโยงการขนส่งจากอินเดียไปยังญี่ปุ่นและเกาหลี นายอดานีกล่าวว่า ให้ความร่วมมือในการที่จะไปพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องขยายเส้นทางการบินจากอินเดียมายังไทย เพื่อเพิ่มนักท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ 

เจมส์ ควินซี (James Quincey) ประธานและซีอีโอของ Coca-Cola 

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า บริษัท Coca Cola คือ หนึ่งในบริษัทเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นเจ้าของหรือมีใบอนุญาตแบรนด์เครื่องดื่มมากกว่า 200 แบรนด์ โดย Coca Cola ก่อตั้งในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 โดยทางบริษัทฯ มีแผนที่จะขยายการลงทุนในไทย และไทยพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค Regional Hub เพราะตอนนี้ รัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมการค้าการลงทุน ที่จะทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเพื่อนบ้านมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิต การขนส่งผ่านด่าน ซึ่งมีความพร้อม

นอกจากนั้นบริษัทฯ ยังได้เสนอแนวความคิด water resilience ที่จะทำให้การคืนน้ำให้กลับสู่ธรรมชาติ มีปริมาณมากกว่าปริมาณน้ำที่ใช้ เพื่อความสมดุลในธรรมชาติ โดยนายกรัฐมนตรีพร้อมให้ทีมงานของบริษัทฯ เข้ามาทำการศึกษา เพื่อให้ทำโครงการนำร่องในประเทศไทย

เจนส์ เพ็ทเตอร์ โอลเซ่ (Jens Petter Olsen) ผู้บริหารบริษัท Telenor 

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการพบปะกับผู้บริหาร บริษัท Telenor ถึงศักยภาพของประเทศไทยที่สนับสนุนการยกระดับ Startup และต่อยอดเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นส่วนสำคัญและสร้างพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจดิจิทัล และส่งเสริม Startup ของไทยให้ประสบความสำเร็จระดับ Unicorn มากขึ้น 

โทนี่ แบลร์ (Tony Blair) ประธานกรรมการบริหาร Tony Blair Institute of Global Change และอดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร 

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการพบปะนายโทนี่ แบลร์ ในด้านรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกันของโลก โดยมีความตั้งใจที่จะหาความร่วมมือกับประเทศไทย โดยเฉพาะด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human development) ทางนายโทนี่ แบลร์มีความเชื่อมั่นว่า การร่วมมือระหว่างรัฐบาล และองค์กรต่างๆ จะช่วยทำให้ประเทศมีการพัฒนาขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้น เพื่อให้ทางสถาบัน Tony Blair Institute of Global Change ได้เข้ามาศึกษาข้อมูลในประเทศไทย เพื่อพัฒนา และต่อยอดในประเด็นต่างๆ ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกัน

มาร์คัส วอลเล็นเบิร์ก (Marcus Wallenberg) ประธานบริษัท SAAB และประธานกรรมการธนาคาร Skandinaviska Enskilda Banken (SEB) ธนาคารชั้นนำของสวีเดน  

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการพบปะกับนายมาร์คัส ว่าเป็นการพบหารือที่น่าสนใจ เพราะเป็นนักธุรกิจที่มีความสามารถสูง เป็นประธานในบริษัทยักษ์ใหญ่ของสวีเดนหลายบริษัทที่ประกอบธุรกิจที่หลากหลายเช่น SAAB และ ABB AstraZeneca พร้อมทั้งมีเครือข่ายการจำหน่ายเครื่องบิน และเรือดำน้ำ โดยนายมาร์คัสยินดีสนับสนุนและพิจารณา การขยายการลงทุนต่างๆ ในไทย 

อาวี เกลเซอร์ (Mr.Avie Glazer) ผู้บริหารสโมสรทีมฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการพบปะกับผู้บริหารทีมนายอาวี เกลเซอร์ ซึ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่ของทีมฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดถึงความต้องการที่จะนำทีมฟุตบอลมาเตะอีกครั้ง เพราะที่เมืองไทยมีแฟนบอลจำนวนมาก ซึ่งการสนทนาเป็นแบบกันเอง และได้ถามแทนแฟนคลับของแมนยูฯ ถึงการหานักเตะศูนย์หน้าฝีมือดีมาร่วมสโมสร

เบอร์นาด เมนซาห์ (Bernard Mensah) ประธาน Bank of America และ CEO ของ Merrill Lynch สถาบันการเงินระดับโลก

กล่าวถึงการหารือกับนายเบอร์นาด เมนซาห์ ถึงแนวทางความร่วมมือ ทั้งการส่งเสริมให้บริษัทไทยไปลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงการทำ Roadshow ร่วมกัน เพื่อที่จะได้เห็นภาพรวมของการลงทุนทั้งหมดและนำประเทศไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในเวทีโลกมากขึ้น 

วิโอลา อัมแฮร์ด (Viola Amherd) ประธานาธิบดีสวิตเซอร์แลนด์

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ได้รับเกียรติจากประธานาธิบดีสวิตเซอร์แลนด์ ให้เข้าพบเพื่อหารือในเรื่องความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) ที่มีการเจรจากันมานาน โดยที่ทั้งสองประเทศมีความตั้งใจที่จะบรรลุข้อตกลงให้ได้ภายในปีนี้ เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ขอบคุณประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในโครงการ E-bus ที่เป็นความร่วมมือของประเทศในการใช้พลังงานสะอาด เพื่อลดปริมาณคาร์บอน และขอให้มีความร่วมมือต่อไป

ทั้งนี้ ไทยและ EFTA ซึ่งประกอบด้วยสาธารณรัฐไอซ์แลนด์ ราชรัฐลิกเตนสไตน์ ราชอาณาจักรนอร์เวย์ และสมาพันธรัฐสวิส ได้ประกาศเริ่มการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกันอีกครั้ง ซึ่งไทยและ EFTA เล็งเห็นถึงความสำคัญของ FTA ระหว่างทั้งสองฝ่าย ซึ่งตั้งเป้าจะเป็น FTA ที่มีรายละเอียดครอบคลุมในทุกมิติ และจะนำมาซึ่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศไทยและประเทศสมาชิก EFTA 

ทั้งนี้นายเศรษฐายังได้เข้าร่วมในกรอบการหารือ Country Strategy Dialogue on Thailand นำเสนอยุทธศาสตร์ของประเทศไทย การกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมย้ำว่า ประเทศไทยได้เปิดแล้ว พร้อมได้มีการนำเสนอโครงการ Landbridge และยืนยันเรื่องการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญลำดับต้น ๆ โดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับภาคเอกชนหลากหลายบริษัทที่มาเข้าร่วม

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมกิจกรรม Thailand Landbridge : Connecting ASEAN with the World ซึ่งได้นำเสนอให้กับนักลงทุนและภาคเอกชนชั้นนำ ซึ่งได้หารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในวงกว้างถึงโครงการ Landbridge ซึ่งหลายบริษัทสนใจและประสงค์นัดหมายเพื่อพบปะพูดคุยในรายละเอียดต่อไป

 

 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ