ป.ป.ช. ยก 7 เคส “วิกฤติเศรษฐกิจ” บี้ รัฐบาลตอบ ไทยเป็นแบบใด? ก่อนออก พ.ร.บ.กู้ แจกเงินดิจิทัล

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ป.ป.ช. ยก 7 เคส “วิกฤติเศรษฐกิจ” บี้ รัฐบาลตอบ ไทยเป็นแบบใด? ก่อนออก พ.ร.บ.กู้ แจกเงินดิจิทัล

Date Time: 17 ม.ค. 2567 16:53 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • กางเอกสารร่าง ป.ป.ช. ยก 7 “วิกฤติเศรษฐกิจ” ตามนิยามธนาคารโลก ถามรัฐบาล เศรษฐกิจไทยเป็นแบบใด? ก่อนเดินหน้าออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน แจก “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” ท่ามกลางข่าวแพร่สะพัด รัฐบาลส่อเลื่อนแจกเงิน ไม่ทันไทม์ไลน์เดิม เดือน พ.ค. 2567

Latest


กลายเป็นอุปสรรคเงื่อนไขใหม่เพิ่มเติม สำหรับนโยบายเรือธงของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน สำหรับ “โครงการดิจิทัลวอลเล็ต” หรือการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งไทม์ไลน์การแจกเงินล่าสุด ถูกวางไว้ช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2567 

ก่อนปรากฏข่าวใหญ่วันนี้ว่า การแจกเงินอาจไม่ทันช่วงเดือน พ.ค.นี้ ตอกย้ำเหตุการเลื่อนประชุมของคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่าน Digital Wallet ที่ทำเนียบรัฐบาลวานนี้ อย่างไม่มีกำหนด 

เนื่องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ส่งข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล เข้ามาให้รัฐบาลดำเนินการตามข้อเสนอให้ถูกต้องและครบถ้วน ก่อนเดินหน้าโครงการแจกเงินที่ต้องผ่านด่านสำคัญ การออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ท่ามกลางกระแสข่าวว่า รัฐบาลอาจลดขนาดเหลือ 3 แสนล้านบาท แต่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง 

เจาะหนังสือของ ป.ป.ช. ร่างข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต เกี่ยวกับการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ความยาว 117 หน้า ซึ่งใจความเข้าใจง่ายๆ คือ ป.ป.ช. มีความกังวลว่า พ.ร.บ.กู้เงิน อาจเสี่ยงขัดต่อข้อกฎหมาย และยืนยันว่า “เศรษฐกิจไทย” ยังไม่วิกฤติ

อีกทั้ง ป.ป.ช. ยังได้หยิบยกตัวบ่งชี้วิกฤติทางเศรษฐกิจ ตามนิยามของธนาคารโลก ให้รัฐบาลศึกษาพิจารณาเพิ่มเติม เพราะนี่คือตัวชี้วัดจับชีพจรว่า เศรษฐกิจเกิดวิกฤติจริงหรือไม่ เนื่องจากคำว่า วิกฤติเศรษฐกิจ ถูกรัฐบาลหยิบยกขึ้นมาว่าเป็นเหตุผลความจำเป็น ที่รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัลอย่างเร่งด่วน 

7 ประเภท “วิกฤติเศรษฐกิจ” ตามธนาคารโลก 

  1. วิกฤติภาคสถาบันการเงิน (Banking crisis) เช่น สถาบันการเงินมีเงิน (สภาพคล่อง) ไม่เพียงพอที่จะจ่ายหนี้ให้เจ้าหนี้ เช่น ผู้ฝากเงิน ตามสัญญาที่กำหนดไว้  หรือสถาบันการเงินมีเงินกองทุนในอัตราส่วนที่ไม่เพียงพอรองรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เช่น การด้อยค่าของสินทรัพย์ 
  2. วิกฤติการไหลออกของเงินทุนระหว่างประเทศอย่างรุนแรง และดุลการชำระเงิน ซึ่งหมายถึงเกิดการสูญเสียเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอย่างเฉียบพลันและรุนแรง แต่ปัจจุบันทุนสำรองระหว่างประเทศไทยของไทย สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก 
  3. วิกฤติค่าเงิน (Currency crisis) ซึ่งเกิดการอ่อนค่าของค่าเงิน (อัตราแลกเปลี่ยนอย่างเฉียบพลันและรุนแรง)
  4. วิกฤติหนี้ (Debt crisis) เป็นลักษณะที่เกิดจากการไม่สามารถชำระเงินต้นและ ดอกเบี้ยได้ตามกำหนดชำระเงินเป็นวงกว้าง ซึ่งปัจจุบัน NPL ในระบบธนาคารพาณิชย์ อยู่ที่ 2.7% ซึ่งต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดที่ 2.9% 
  5. วิกฤติการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Growth rate crisis) เกิดการหดตัวอย่างฉับพลันและรุนแรงของ GDP 
  6. วิกฤติการคลัง คือ การคลังมีปัญหารายรับไม่พอรายจ่ายอย่างเรื้อรัง ทำให้มีภาระทางการคลังสูง และมีความยากลำบากในการชำระคืนหนี้  ซึ่งปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 62.1% (ต่ำกว่าเพดานหนี้ที่รัฐบาลกำหนดไว้ 70%)
  7. วิกฤติเงินเฟ้อ (Inflation crisis) อันหมายถึงอัตราเงินเฟ้อสูงมากกว่า 40% ต่อเดือน แต่สถานการณ์ปัจจุบัน คาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2566 อยู่ที่ 1.6% เท่านั้น 

ทั้งนี้ ซึ่งเมื่อพิจารณาสภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจากตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 (30 กันยายน 2566) แล้ว ไม่อยู่ในความหมาย “วิกฤติทางเศรษฐกิจ” ตามคำนิยามข้างต้น ทั้ง 7 ประเภท 

โดยมีตัวอย่างเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้นทั่วโลก เช่น วิกฤติค่าเงิน เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2540 วิกฤติเงินเฟ้อเคยเกิดขึ้นปี ค.ศ. 1990 ในประเทศบราซิล (2,000%/ต่อปี) และปี ค.ศ. 2008 ในประเทศซิมบับเว 

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ