นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 1 บาทต่อลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.-19 เม.ย.2567 เป็นเวลากว่า 3 เดือน โดยรัฐบาลจะสูญเสียรายได้เดือนละ 2,000 ล้านบาท รวม 3 เดือนสูญเสียงบประมาณ 6,000 ล้านบาท แต่จะช่วยรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนกระทบกับค่าครองชีพประชาชน และต้นทุนภาคธุรกิจจนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศโดยนโยบายนี้เป็นไปตามที่รัฐบาลพยายามลดค่าครองชีพให้กับประชาชน ขณะเดียวกันก็ไม่เป็นภาระกับงบประมาณในระยะยาวด้วย
เมื่อถามว่ากระทรวงพลังงานมีนโยบายที่จะตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรได้มีการหารือกันหรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่าไม่ได้มีการกำหนดว่าราคาน้ำมันจะอยู่ที่กี่บาทต่อลิตร เพียงแต่ต้องดูแลให้เหมะสมไม่เป็นภาระกับประชาชน และไม่กระทบกับต้นทุนของภาคธุรกิจ ซึ่งกระทรวงการคลังได้มีการหารือกับกระทรวงพลังงานต่อเนื่องในเรื่องนี้ ส่วนเมื่อสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 19 เม.ย.แนวโน้มจะไม่มีการอุดหนุนโดยลดภาษีสรรพสามิตดีเซลใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่าไม่สามารถบอกได้เพราะต้องดูระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกในขณะนั้นด้วย
นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ดำเนินการมาตรการภาษีเพื่อลดราคาน้ำมันดีเซลในปี 2565-2566 โดยการออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เพื่อปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซล และน้ำมันอื่นๆที่คล้ายกัน ตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. 2565 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566 รวม 1 ปี 8 เดือน มีการสูญเสีย รายได้ประมาณ 172,000 ล้านบาท โดยในแต่ละครั้งปรับอัตราภาษีลดลงแตกต่างกัน รวม 8 ครั้ง เพื่อเป็นการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร จึงเห็นควรดำเนินมาตรการทางภาษีร่วมกับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
“มาตรการครั้งนี้เป็นการยืดระยะเวลาของมาตรการช่วยเหลือประชาชนด้านราคาพลังงานระยะสั้น อย่างไรก็ดี สำหรับมาตรการระยะยาวนั้น ทางกระทรวงพลังงานยังคงเดินหน้าอย่างเข้มข้นเพื่อที่จะ “รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง” ด้วยการรื้อโครงสร้างราคาพลังงานของประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้เป็นรูปธรรมภายในปี 2567 นี้อย่างแน่นอน”
ด้านนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยถึงกรณีที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ต้องการให้ค่าไฟฟ้าของประเทศไทยมีราคาอยู่ที่ระดับ 3.60 บาทต่อหน่วย และในระยะยาวไม่เกิน 3 บาทต่อหน่วย กกพ.เห็นว่าเรื่องนี้ เป็นไปได้ยาก เนื่องจากปัจจุบันหากมองการดำเนินตามโครงสร้างเดิมต้นทุนค่าไฟฟ้าทั้งหมด จะอยู่ที่ระดับ 4.30 บาทต่อหน่วยแล้ว และล่าสุดที่มีการปรับโครงสร้างก๊าซธรรมชาติ จึงทำให้ค่าไฟฟ้าสามารถลดลงมาที่ 4.20 บาทต่อหน่วย
นอกจากนั้น ค่าเอฟทีให้งวดปัจจุบัน (ม.ค.-เม.ย.) นี้ ยังได้เงินค่าปรับจากผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบก๊าซธรรมชาติได้ตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (Shortfall) จำนวน 4,300 ล้านบาทเข้ามาช่วย จึงทำให้ค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับ 4.18 บาท ต่อหน่วยได้ ซึ่งงวดที่ 2 ในเดือน พ.ค.-ส.ค.จะไม่มีเงินตรงนี้มาช่วยอีกแล้ว และต้องขึ้นอยู่กับว่าก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะส่งมอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในปริมาณเท่าใด รวมถึงยังมีปัญหาว่าก๊าซธรรมชาติ จากเมียนมาจะหายหรือไม่ ค่าไฟฟ้าจากนี้ไปจึงขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลจะหาเงินส่วนใดมาช่วยเหลือเพื่อลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้มากน้อยเท่าใด
สำหรับแนวโน้มค่าไฟฟ้าตลอดทั้งปี 2567 นี้ ที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.พลังงาน ต้องการที่จะตรึงให้อยู่ในระดับ 4.20 บาทต่อหน่วย เรื่องนี้ก็ต้องติดตามปัจจัยอื่นๆเข้ามาสนับสนุน เนื่องจากงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. ไม่มีเงื่อนไขสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ หรือ Shortfall เข้ามาช่วยสนับสนุนแล้ว แต่หากก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณมาในระบบครบ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต และก๊าซธรรมชาติจากเมียนมายังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงราคานำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวจากตลาดจร (LNG Spot) อยู่ในระดับ 10 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียูก็อาจจะสามารถตรึงได้ในระดับดังกล่าว แต่ต้องขึ้นอยู่กับสถาน การณ์ที่แท้จริงในขณะนั้น.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่