เชื่อว่า คงเป็นภาพจำของใครหลายๆ คน เมื่อเอ่ยถึงแบรนด์บ้าน “แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์” สิ่งที่นึกออก คงเป็นภาพของคฤหาสน์หรู ยิ่งใหญ่ โอ่อ่า ประตูทางเข้าอลังการ เหมือนราชวัง และคงมีแต่คนรวย ระดับเศรษฐี ซื้อและอยู่อาศัย ได้เท่านั้น
โดยมีแบรนด์ดัง อย่าง บ้านลดาวัลย์, บ้านนันทวัน และบ้านมัณฑนา ที่ขึ้นชื่อติดตลาด ซึ่งจนมาถึงวันนี้ อสังหาฯ ระดับตำนานเจ้านี้ ดำเนินธุรกิจมาแล้ว มากกว่า 50 ปี และกลายเป็นคำถามโตๆ ว่า ท่ามกลาง การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นของตลาดที่อยู่อาศัยไทย และสภาพเศรษฐกิจไทยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง “แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์” ปรับตัว และ ตั้งอยู่อย่างไร?
ข้อมูลสำคัญในการแถลงแผนธุรกิจ ประจำปี ของ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH คณะผู้บริหาร เผยว่า ตลาดอสังหาฯปีที่แล้ว ไม่สดใสอย่างที่คิด สะท้อนจากจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จและจดทะเบียน ในกทม. และปริมณฑล ทั้งตลาด ช่วงเดือน ม.ค.-ต.ค. 2566 มีจำนวน 52,715 หน่วย ลดลง 17.1%
ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างเปิดขายทั้งตลาด อยู่ที่ 95,527 หน่วย ลดลง 7.1% โดยซัพพลายที่ลดลงมาจากตลาดทาวน์เฮาส์ และคอนโดมิเนียมที่ลดลง 23% และ 10% ตามลำดับ แต่ตลาดบ้านเดี่ยวและบ้านแฝดมีการเปิดขายใหม่เพิ่มขึ้น 17.3% ส่งผลให้สินค้าบ้านเดี่ยวซึ่งเป็นสินค้าหลักของบริษัท มีสภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น ท้าทายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2565 แล้ว
อย่างไรก็ดี ในช่วงปีที่ผ่านมา แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ยังสามารถลงทุนใหม่ได้ถึง 17 โครงการ มูลค่า 43,460 ล้านบาท โดยเป็นโครงการแนวราบเกือบทั้งหมด ยกเว้น โครงการวันเวลา ณ เจ้าพระยา คอนโดมิเนียม มูลค่า 15,000 ล้านบาท ติดริมแม่น้ำ ย่านสามเสน ที่สามารถทำยอดขายได้แล้ว 5,000 ล้านบาท หลังจากปรับแผน และเล็งเห็นความต้องการซื้อของผู้อยู่อาศัยใน segment ระดับบน และในบางทำเลของตลาดคอนโดฯ
สำหรับแผนธุรกิจ ปี 2567 “นพร สุนทรจิตต์เจริญ” ประธานกรรมการบริหาร LH เล่าความน่าสนใจว่า ในปีนี้ บริษัทฯ มีแผนเปิดโครงการใหม่ 11 โครงการ มูลค่ารวม 30,200 ล้านบาท ลดลง 30% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากในปี 2566 มีการเปิดโครงการคอนโดมิเนียม วันเวลา ณ เจ้าพระยา ซึ่งมีมูลค่า 15,000 ล้านบาท แต่หากเปรียบเทียบเฉพาะโครงการแนวราบ มูลค่าโครงการเปิดใหม่จะเติบโต 6% จากปี 2566 ประกอบไปด้วย
ทั้งนี้ ราคาขายบ้านของ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีการปรับตัวขึ้น ตามสภาวะต้นทุนการพัฒนาในทุกเซกเมนต์ โดยปัจจุบัน ราคาเฉลี่ยบ้านเดี่ยว ของบริษัท อยู่ที่ 16 ล้านบาท ขณะโครงการที่แพงที่สุดในปีนี้ คือ โครงการบ้านเดี่ยว นันทวัน PRIVATE POOL VILLA พระราม 9-กรุงเทพกรีฑาตัดใหม่ มูลค่า 2,880 ล้านบาท จำนวน 30 หลัง ด้วยราคาขายเฉลี่ย 96 ล้านบาท รองลงมา นันทวัน บางนา กม. 15 ราคาเฉลี่ยต่อหลัง 55.3 ล้านบาท และบ้านมัณฑนา 2 ซีรีน เลค เชียงใหม่ ราคา 20.8 ล้านบาท
ส่วนงบลงทุนใหม่ทั้งกลุ่ม ของปี 2567 ตั้งไว้ 11,500 ล้านบาท ประกอบด้วย
ผู้บริหาร LH ระบุว่า การดำเนินธุรกิจในปีนี้ ยังเต็มไปด้วยความท้าทาย และอสังหาฯ ไทย อยู่ในภาวะ “วิ่งสู้ฟัด” ขณะบริษัทเอง ต้องประคองตัวให้ดี เพราะต้องให้ความสำคัญกับสภาพคล่องของบริษัทเป็นหลัก แม้ไม่ได้เผชิญกับปัญหา ลูกค้าถูกธนาคารปฏิเสธสินเชื่อ ในอัตราสูง เหมือนบริษัทอื่นๆ ในตลาด
อีกทั้งอยากแนะให้คนทำธุรกิจ หันกลับมาใส่ใจกับกลยุทธ์ธุรกิจของตนเองมากขึ้น เพราะแม้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ มีแนวโน้มดีกว่าปีก่อน แต่ยังไว้ใจไม่ได้ กับปัจจัยเสี่ยงระดับมหภาคที่คาดเดาไม่ได้ เฉกเช่น เมื่อปี 2566 ที่เราเจอกับผลกระทบเรื่องสงคราม
โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ จะขยายตัวขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายๆ นโยบาย ที่จะทยอยประกาศใช้ ตลอดทั้งปี 2567 ไม่ว่าจะเป็น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต และนโยบายดึงดูดการลงทุนของต่างชาติ เป็นต้น
ส่วนปัจจัยท้าย อย่างประเด็น ดอกเบี้ย เชื่อว่าจะได้เห็นแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ย อย่างช้าในช่วงครึ่งปีหลัง โดยขึ้นอยู่กับนโยบายการเงินของสหรัฐฯ เป็นหลัก ซึ่งดอกเบี้ยลง จะช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และกำลังซื้อ โดยจะมีการขยายตัวในภาคการท่องเที่ยว จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สูงขึ้นกว่าปีก่อน มาช่วยสนับสนุน GDP ไทยเพิ่มเติมด้วย ซึ่งอานิสงส์นี้จะมีผลเชิงบวกของธุรกิจบริษัทในตลาดโรงแรมด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี สำหรับตลาดอสังหาฯ ภาพรวม ยังค่อนข้างน่ากังวล จากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารให้กับลูกค้า ทั้งสินเชื่อพัฒนาโครงการ และสินเชื่อที่อยู่อาศัย อีกทั้งเชื่อว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย ยังต้องใช้เวลาอีกสักพัก ถึงจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น
“การดำเนินธุรกิจในปีนี้ ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยง ที่มาแบบไม่รู้ตัว เช่น สงครามอิสราเอลในปีที่ผ่านมา ทำให้คาดเดาได้ยาก เวลานี้อาจพิจารณาแค่ตัวแปรระดับมหภาค ไม่ได้แล้ว จึงต้องกลับมาที่กลยุทธ์หลัก และกลุ่มเป้าหมายลูกค้าให้แม่นขึ้น รวมไปถึงปรับพอร์ตการลงทุน และกระจายโลเกชัน ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยง”
ทั้งนี้ ในปี 2567 บริษัท ตั้งเป้าหมายยอดขาย (Bookings) 31,000 ล้านบาท และเป้าหมายรับรู้รายได้จากยอดโอนกรรมสิทธิ์ 28,000 ล้านบาท ส่วนรายได้จากอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 8,540 ล้านบาท
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney