วันที่ 15 ม.ค. 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงข่าวงาน BOT Policy Briefing : เปิดแนวคิดนโยบายแบงก์ชาติ บริเวณหน้าห้องภัทรรวมใจ อาคาร 2 ชั้น 2 ธปท. สำนักงานใหญ่ โดยมี ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงินและเลขาคณะกรรมการนโยบายการเงิน, สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน และสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ตอบคำถามสื่อมวลชนประเด็นข้อสงสัย การดำเนินนโยบายทางการเงินที่สวนทางกับสภาพเศรษฐกิจ
ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงินและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า การดำเนินนโยบายทางการเงิน พิจารณาจาก 3 องค์ประกอบ ได้แก่
1.การขยายตัวทางเศรษฐกิจ
2.เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย
3.เสถียรภาพของระบบการเงิน
อย่างไรก็ตาม ธปท.ให้ภาพมุมมองเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวในหลายมิติ โดยมีอุปสงค์ในประเทศที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวเหนือระดับก่อนโควิด-19 แต่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง และไม่สมดุล เนื่องจากเครื่องยนต์เศรษฐกิจอย่างภาคการผลิต และการส่งออก ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ อีกทั้งยังกระจุกตัวอยู่ที่เครื่องยนต์การท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ธปท.ยังให้มุมมองต่อเครื่องยนต์เศรษฐกิจของไทย ที่เคยเป็นทั้งความหวัง และตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจมากว่า 20 ปี คือ ภาคท่องเที่ยว และภาคส่งออก ที่ดูเหมือนจะยังไม่กลับมาฟื้นตัวได้แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ด้วย 2 ปัจจัย ดังนี้
1.จำนวนนักท่องเที่ยวแม้จะกลับมาใกล้ระดับเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ แต่นักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายน้อย และระยะการอยู่สั้นลง อีกทั้งการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนยังต่ำกว่าคาดการณ์ เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจในจีน
2.ภาคการผลิต และภาคการส่งออก ฟื้นตัวช้ากว่าคาดการณ์ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวในภาคบริการ ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าทั่วโลก รวมทั้งในไทยไม่เติบโต ในแง่ของศักยภาพเศรษฐกิจที่แท้จริง จะพบว่าหลังโควิด-19 ภาคการส่งออกของไทยขยายตัวช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเป็นสัญญาณว่าไทยอาจสูญเสียความสามารถการแข่งขันทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยสัดส่วนการส่งออกสินค้าไฮเทคน้อย เมื่อเทียบกับมาเลเซีย และสิงคโปร์ รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์น้อยลง จากการไม่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
แม้ในปี 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวอย่างสมดุลมากขึ้น จากการกลับมาของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลก ซึ่งจะช่วยหนุนการส่งออก
แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ เป็นความเสี่ยงที่ทำให้ไทยรับประโยชน์จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศไม่มากเท่าที่ควร อีกทั้งยังฉุดรั้งให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าคาด ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงินได้ติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด ในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจระยะต่อไป
ทั้งนี้เงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลง สะท้อนให้เห็นว่าภาคประชาชนไม่ได้มีภาระค่าครองชีพที่สูง เนื่องจากกระบวนการลดลงของเงินเฟ้อ (Disinflation) ปรับตัวลดลงเร็วกว่าและดีกว่าเมื่อเทียบกับต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และประเทศเพื่อนบ้านที่ยังต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง เพื่อสู้กับความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ดัชนีราคาผู้บริโภค (cpi) โดยรวมที่ติดลบ ไม่ได้สะท้อนถึงอุปสงค์หรือกำลังซื้อที่หมดไป หรือภาวะเงินฝืด
สำหรับประเด็นที่สังคมตั้งข้อคำถามว่า เหตุใดเมื่อเงินเฟ้อติดลบแล้ว แต่ กนง.ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับ 2.5% ต่อปี มาตั้งแต่เดือน ก.ย.2566 ซึ่ง ธปท.ให้เหตุผล 4 ข้อดังนี้
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการนโยบายการเงินคาดว่า เงินเฟ้อจะติดลบไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 แล้วค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในกรอบเป้าหมาย ที่ 1-3%
อีกทั้งหากอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำเกินไปจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาหนี้ที่อยู่ในระดับสูง และสร้างปัญหา search for yield ซึ่งเห็นได้จากสัดส่วนการถือครองหุ้นกู้ Unrated ที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ดังนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงินจึงพยายามกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่สมดุล โดยต้องไม่สูงเกินไปจนเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และไม่ต่ำเกินไปที่จะสร้างปัญหาเชิงเสถียรภาพทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งคณะกรรมการฯ จะพิจารณาข้อมูลที่เข้ามา และพร้อมที่จะปรับจุดยืนนโยบาย หากแนวโน้มเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ยืนยันว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบันที่ 2.50% ต่อปี อยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับโลก
สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า สิ่งที่ ธปท.ต้องทำเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาหนี้เชิงโครงการคือ การเพิ่มการแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์ในระยะยาว ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อได้มากขึ้น
โดยล่าสุด ธปท.ได้ส่งร่างประกาศกระทรวงการคลัง ที่กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการ ประกอบธุรกิจ virtual bank ไปให้กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา คาดว่าถ้าสามารถออกประกาศภายในช่วงไตรมาส 1/2567 แล้วเปิดรับสมัคร จะทำให้ภายในครึ่งปีแรกของปี 2569 มี virtual bank รายใหม่เข้ามาแข่งขันในตลาด.
อ่านข่าวเศรษฐกิจในประเทศอื่นๆ กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney