นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธาน ที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัย หอการค้าไทย เปิดเผยว่า อัตราดอกเบี้ยของไทยในปัจจุบันเป็นอัตราดอกเบี้ยเชิงธรรมชาติ ที่น่าจะอยู่ในจุดสมดุลเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อทั่วไปของไทยที่ไม่เกิน 2% หรืออยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% ของธนาคารของแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งปี 66 เงินเฟ้อทั่วไปไทยอยู่ที่ 1.23% โดยดอกเบี้ยจะต้องสูงกว่าเงินเฟ้อ เพื่อทำให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวก หากดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินเฟ้อ ประชาชนจะไม่ฝากเงิน ทั้งนี้ คาดว่า เงินเฟ้อทั่วไปของไทยปีนี้จะใกล้เคียง 2% ดังนั้น ดอกเบี้ยนโยบายของไทยปัจจุบันยังเอื้อต่อการรักษาระดับเงินเฟ้อ ไม่จำเป็นต้องขยับขึ้นอีกแล้วในปีนี้
“ตอนที่ไทยขึ้นดอกเบี้ยนโยบายปีที่แล้ว เพื่อลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ รักษาช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยสหรัฐฯ และไทย ไม่ให้ห่างกันจนเกินไป และรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท แต่ขณะนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณไม่ขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ถ้าเฟดลดเมื่อไร ไทยควรลดด้วย เพราะคาดว่าเงินเฟ้อปีนี้ไม่เกิน 2% จากการที่รัฐยังมีมาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงาน มองว่า ไตรมาสแรกปีนี้มีโอกาสที่เงินเฟ้อทั่วไปจะยังติดลบอยู่ หลังจากติดลบมาแล้ว 3 เดือน และเข้าสู่ภาวะเงินฝืดทางเทคนิคจากการแทรกแซงราคาพลังงาน ไม่ใช่เงินฝืดจากกำลังซื้ออ่อนแรง”
นายธนวรรธน์กล่าวอีกว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทย นอกจากมีความเสี่ยงจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส การโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดง ที่อาจมีผลกระทบ ต่อการส่งออกสินค้าไทยแล้ว ยังมีเรื่องการชำระหนี้ของตราสารหนี้ ที่ปีนี้ต้องชำระคืนมูลค่าหลายแสนล้านบาท แต่เริ่มเห็นสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้ และการเลื่อนชำระหนี้แล้ว 2-3 บริษัทนับตั้งแต่ปีที่ผ่านมา หากมีมากขึ้นจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ในตลาดตราสารหนี้ ตราสารทุน ตลาดหุ้น ความมั่นคงทางการเงินของไทย และเศรษฐกิจไทยได้
ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ส่วนต่าง (สเปรด) ดอกเบี้ยเงินฝาก และเงินกู้ของไทยอยู่ในระดับสูง เพราะสถาบันการเงินต้องตั้งสำรองสูงเผื่อหนี้เสีย ตั้งสำรองตามมาตรฐานการบัญชีใหม่ เพราะไทยเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยเงินกู้มากกว่าเงินฝาก อีกทั้ง หลายบริษัทพยายามกู้เงินเพื่อชำระคืนตราสารหนี้ หุ้นกู้ต่างๆ ทำให้สถาบันการเงินต้องระมัดระวังปล่อยกู้ และมีสเปรดดอกเบี้ยเงินกู้สูงกว่าเงินฝาก แต่ถือว่าสเปรดดอกเบี้ยไทยอยู่ในระดับกลางๆของอาเซียน เป็นไปตามดีมานด์ ซัพพลายในตลาด อย่างไรก็ตามหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้หารือกับผู้ว่าการ ธปท.ไปแล้ว จะทำให้ ธปท.กลับมาพิจารณาว่าสเปรดดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับเหมาะสมหรือไม่ ต้องรอดูต่อไป
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธ.ค.66 ที่ดัชนีทุกรายการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และสูงสุดในรอบ 46 เดือน โดยความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ 62.0 เพิ่มจาก 60.9 เดือน พ.ย.66 ดัชนีเชื่อมั่นในปัจจุบัน อยู่ที่ 45.4 เพิ่มจาก 44.6 ดัชนีเชื่อมั่นในอนาคต อยู่ที่ 69.9 เพิ่มจาก 68.7 นั้น เพราะผู้บริโภคเริ่มกลับมาเชื่อมั่นหลังจากรัฐบาลจัดทำนโยบายลดค่าครองชีพโดยลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมัน มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ การเมืองไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่อาจยืดเยื้อ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆทั่วโลก ที่อาจเพิ่มแรงกดดันให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทย และมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชน
แต่ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นกลับสวนทางดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยที่สำรวจความคิดเห็นจากสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศในเดือน ธ.ค.66 ที่ลดลงเป็นเดือนที่ 3 ในรอบ 19 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 54.7 ตามค่าดัชนีที่ลดลงในทุกภูมิภาค เพราะภาคธุรกิจกังวลสงครามในอิสราเอล และสถานการณ์ในอนาคต ทั้งภัยแล้ง ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 น้ำท่วมภาคใต้ ขาดสภาพคล่อง การเบิกจ่ายเงินงบประมาณปี 67 ล่าช้า และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐยังล่าช้า และน้อยเกินไป ทำให้เศรษฐกิจยังโตไม่โดดเด่น.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่