ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณี บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด บริษัทแม่ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เจ้าของสัมปทานเหมืองทองคำ จังหวัดพิจิตร ฟ้องรัฐบาลไทยด้วยการทำคำเสนอข้อพิพาท (สเตตเมนต์ ออฟ เคลม) กับราชอาณาจักรไทย เกี่ยวกับการประกอบกิจการเหมืองทองของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย (ทาฟต้า) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในกระบวนอนุญาโตตุลาการขั้นตอนเจรจาครบกำหนดวันที่ 31 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมานั้น โดยล่าสุดทั้งรัฐบาลไทยและคิงส์เกตฯ ได้ตกลงขยายขั้นตอนการเจรจาในกระบวนอนุญาโตตุลาการออกไปอีก 6 เดือน หรือสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.2567
แต่เป็นที่น่าจับตาว่า แม้การเจรจายังเป็นไปด้วยดี เพราะเหมืองอัคราเริ่มกลับมาเปิดดำเนินการบางส่วน แต่เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2566 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กลับสั่งฟ้อง 4 ผู้ต้องหาคดี บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กับพวก ประกอบด้วย นายปกรณ์ สุขุม ผู้ต้องหาที่ 2 นายไมเคิล แพรทริค โมโนกาน ผู้ต้องหาที่ 3 และนายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้ต้องหาที่ 4 ในข้อหายึดที่ดินรัฐ ครอบครองป่า สร้างตะแกรงรุกทางหลวง นัดส่งตัวฟ้องวันที่ 24 ม.ค.2567
โดยนายเจมี่ กิ๊บสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คิงส์เกต กล่าวว่า บริษัทและผู้ต้องหาไม่ทราบข่าวการสั่งฟ้องมาก่อน ทั้งที่ได้ประสานงานกับสำนักงานอัยการสูงสุดมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา จึงตั้งข้อสงสัยว่าการกระทำนี้เป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่ และที่มีข่าวฟ้องยังเป็นวันเดียวกับที่ร่วมกันตัดสินใจเลื่อนขั้นตอนการเจรจาออกไปด้วย “ยืนยันข้อกล่าวหาตามที่ปรากฏในสื่อไม่มีมูลความจริง บริษัทชี้แจงได้ ถ้ามีการสั่งฟ้องเกิดขึ้นบริษัทจะต่อสู้คดีในศาลอย่างถึงที่สุด”
นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายความยั่งยืน อัครา รีซอร์สเซส กล่าวว่า การแจ้งข้อกล่าวหาต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรและเป็นการทำเฉพาะตัว ไม่ใช่ผ่านสื่อมวลชน ถือเป็นการละเมิดสิทธิ์อันชอบธรรม.