ค่าครองชีพคนไทยปี 2567 ยังสูงต่อเนื่องจากราคาพลังงานและต้นทุนต่างๆอยู่ในระดับสูง ก.พาณิชย์ระบุสินค้าที่ราคาส่อสูงกว่าปี 2566 พาณิชย์ตั้ง มีทั้งเครื่องปรุงประกอบอาหาร เนื้อสัตว์ ส่วนกลุ่มที่ขึ้นน้อยกว่า เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าโดยสารสาธารณะ ข้าว ไข่ ผัก-ผลไม้สด อาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน ทำเงินเฟ้อเพิ่มในอัตราชะลอลง แต่ครัวเรือนยังมีค่าใช้จ่ายเกินเดือนละ 1.8 หมื่นบาท ขณะที่ “ภูมิธรรม” ย้ำเดินหน้าลดค่าครองชีพต่อเนื่อง ตั้งเป้า 3 หมื่นล้านบาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.5 แสนล้านบาท
ขึ้นปีใหม่แต่คนไทยต้องแบกค่าใช้จ่ายในการครองชีพเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ยังเท่าเดิม โดยนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย และยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงแนวโน้มค่าครองชีพคนไทย และอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นผลจากการปรับขึ้นและลดลงของราคาสินค้าและบริการ จำนวน 430 รายการว่า จากการวิเคราะห์ราคาสินค้าและบริการ 430 รายการ ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อ เปรียบเทียบราคาปี 2566 และปี 2567 พบว่า มีทั้งกลุ่มที่ราคาสูงขึ้น และลดลง โดยกลุ่มที่ราคามีแนวโน้มเพิ่มสูงกว่าปี 2566 ได้แก่ เครื่องปรุง ประกอบอาหาร และเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ
ส่วนกลุ่มที่ราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าปี 2566 ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าโดยสารสาธารณะ ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักสด ผลไม้สด อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน และสุดท้ายกลุ่มที่ราคามีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากปี 2566 ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง จึงทำให้คาดการณ์ได้ว่าภาพรวมราคาสิน ค้าและบริการในปี 2567 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงจากปี 2566 และทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 ชะลอตัวจากปี 2566
“สนค.คาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปของไทยปี 2567 ขยายตัวติดลบร้อยละ 0.3 ถึงบวกร้อยละ 1.7 มีค่ากลางที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ชะลอตัวจากที่คาดเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.35 ในปี 2566 เป็นการชะลอตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน สะท้อนถึงเศรษฐกิจไทยกำลังปรับเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อต่ำเหมือนช่วงก่อนโควิด-19 ที่เงินเฟ้อไทยเพิ่มขึ้นต่ำกว่าร้อยละ 1.0” นายพูนพงษ์ กล่าว และระบุปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อชะลอตัว ได้แก่ ภาครัฐมีมาตรการลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะลดราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอัตราเงินเฟ้อในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ การปรับขึ้นราคาสินค้าสำคัญค่อนข้างจำกัด เพราะสินค้าหลายรายการปรับขึ้นราคาไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ทั้งน้ำตาลทราย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม นมและผลิตภัณฑ์นม เครื่องประกอบอาหารบางชนิด ของใช้ส่วนบุคคล ค่าโดยสารแท็กซี่ เป็นต้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ทำให้ความต้องการและราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด ขณะเดียวกัน หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับสูง ฉุดกำลังซื้อคนไทยให้ลดลง
นายพูนพงษ์ระบุอีกว่า อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นกว่าคาดได้ ทั้งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ที่ทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้น รวมถึงดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ผลักดันต้นทุนด้านการเงินสูงขึ้น การใช้จ่ายของประชาชนที่อาจเพิ่มขึ้น จากการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท และเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวจากปี 2566 ทำให้การใช้จ่ายเพื่อการลงทุน และการบริโภคเพิ่มขึ้น รวมถึงแนวโน้มนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น จะมีส่วนผลักดันให้การจับจ่ายใช้สอย และระดับราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นได้
“แต่ยังต้องจับตาปัจจัยอื่นๆที่อาจทำให้เงินเฟ้อไทยปีหน้าสูงขึ้น หรือลดลงต่ำกว่าคาดได้ ทั้งความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้นได้อีก ค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวน โดยหากอ่อนค่ามาก จะยิ่งทำให้ราคาสินค้าวัตถุดิบที่นำเข้าเพิ่มขึ้น ผลักดันให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น และมาตรการภาครัฐที่ส่งผลต่อราคาอาจมีหลากหลายรูปแบบ” นายพูนพงษ์กล่าว
นายพูนพงษ์กล่าวอีกว่า สนค.ยังได้วิเคราะห์ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนไทยปี 2567 อ้างอิงข้อมูลจากผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยคาดว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากเดือนละ 18,068 บาท (ข้อมูลล่าสุด ณ เดือน พ.ย.2566) ตามอัตราเงินเฟ้อปี 2567 ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อแบ่งเป็นหมวดสินค้าสำคัญ 10 หมวด พบว่าหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร คาดจะใกล้เคียงเดือน พ.ย.2566 ที่ 4,157 บาท เพราะรัฐบาลมีมาตรการดูแลราคาพลังงาน และไฟฟ้าต่อเนื่องจนถึงเดือน มี.ค.และเดือน เม.ย.2567
ส่วนหมวดเคหสถาน คาดใกล้เคียงกันที่ 3,987 บาท เพราะรัฐดูแลค่าไฟฟ้าต่อเนื่องถึงเดือน เม.ย.67 หมวดอาหารบริโภคในบ้าน คาดจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1,649 บาทในเดือน พ.ย.2566 หมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ คาดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1,642 บาท หมวดอาหารบริโภคนอกบ้าน คาดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1,257 บาท หมวดผักและผลไม้ คาดเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจาก 1,049 บาท ขณะที่หมวดข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์ คาดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 709 บาท หมวดเครื่องประกอบอาหาร คาดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 428 บาท หมวดไข่และผลิตภัณฑ์นม คาดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 414 บาท และสุดท้ายหมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ คาดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 404 บาท
“แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เศรษฐกิจขยายตัวได้มากกว่าเงินเฟ้อ ทำให้อำนาจซื้อเพิ่มขึ้น ภาครัฐดูแลค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง การเร่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ทั้งหนี้ในและนอกระบบ อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง และการแจกเงินดิจิทัลจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน และช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2567” ผอ.สนค.ระบุ
อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 รัฐบาลจะยังคงเดินหน้าลดค่าครองชีพให้กับคนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบการตรึงราคาดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาท และตรึงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ที่ 423 บาทต่ออีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค.2567 หลังจากที่สิ้นสุดมาตรการวันที่ 31 ธ.ค.2566 รวมถึงตรึงค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) งวดใหม่ที่เรียกเก็บจากประชาชนรอบบิลเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 ไว้ที่หน่วยละ 3.99 บาท สำหรับกลุ่มเปราะบาง หรือครัวเรือนที่ใช้ไฟน้อยกว่าเดือนละ 300 หน่วย ส่วนกลุ่มที่ใช้เกินเดือนละ 300 หน่วยและภาคอุตสาหกรรม ลดเหลือไม่เกินหน่วยละ 4.20 บาท จากเดิมที่คณะกรรมการกำกับกิจการไฟฟ้า (กกพ.) กำหนดที่หน่วยละ 4.68 บาท แต่จะเป็นอัตราเท่าไรต้องรอ กกพ.พิจารณาอนุมัติอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่หน่วยละ 4.17-4.19 บาท
ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวย้ำว่า จากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ยังผันผวน และต้นทุนต่างๆยังอยู่ในระดับสูง ปี 2567 กระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้าลดค่าครองชีพประชาชนอย่างต่อเนื่อง ด้วยโครงการจัดจำหน่ายสินค้าราคาถูกตลอดทั้งปี ตั้งเป้าหมายลดค่าครองชีพประชาชนให้ได้ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท จากในช่วง 99 วันแรกของการทำงาน กระทรวงพาณิชย์ได้จัดงานจำหน่ายสินค้าราคาประหยัดไปแล้ว 5 กิจกรรม ช่วยลดค่าครองชีพคนไทยได้กว่า 7,758 ล้านบาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ประมาณ 12,000 ล้านบาท พร้อมกับจะกำกับดูแลสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการอย่างเข้มงวด ไม่ให้ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบ และจะมุ่งสร้างสมดุลให้กับ 3 ฝ่าย คือ เกษตรกร ผู้ผลิต และประชาชน เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นธรรม
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่