นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการกำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง และปลาป่น) รอบใหม่เป็นปีต่อปี ลดลงจากเดิมที่คณะกรรมการนโยบายอาหาร เสนอมา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2567-2569 เนื่องจากรัฐบาลนี้มีนโยบายส่งเสริมการปลูกข้าวโพดและถั่วเหลืองด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ คือ จะไม่มีการเผาตอซัง และในช่วงนับจากนี้ไปพื้นที่การเพาะปลูกข้าวโพดและถั่วเหลืองจะเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นหลักประกันว่าทุกๆปี เมื่อผู้ผลิตอาหารสัตว์ที่ได้สิทธิการนำเข้าอาหารสัตว์ จะต้องรักษาข้อตกลงในการรับซื้อผลผลิตในประเทศอย่างเต็มที่ ครม.จึงขอตัดเหลือแค่ 1 ปี
“ครม.ได้ขอตัดจาก 3 ปี เหลือแค่ 1 ปี หรือปีต่อปี แล้วค่อยพิจารณาอีกรอบ เพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อผู้ผลิตอาหารสัตว์ที่ได้สิทธิการนำเข้าอาหารสัตว์แล้ว ต้องซื้อวัตถุดิบในประเทศตามที่ตกลงไว้ แสดงให้เห็นชัดว่านโยบายของรัฐบาลเข้าใจดีว่าผู้ผลิตอาหารสัตว์จำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบที่ไม่พอ แต่รัฐบาลก็ต้องการสร้างหลักประกันให้เกษตรกรที่ปลูกวัตถุดิบมีหลักประกันว่าผู้นำเข้าต้องซื้อวัตถุดิบทั้งหมดในราคาที่เป็นธรรม”
สำหรับเหตุผลของการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้ง 3 ชนิด เป็นผลมาจากปัจจุบันประเทศไทยไม่สามารถผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้เพียงพอต่อความต้องการ จึงต้องการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งหมดเข้ามาในประเทศ แยกเป็นชนิดต่างๆ ดังนี้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปัจจุบันผลิตได้ต่ำกว่าปีละ 5 ล้านตัน แต่ความต้องการใช้มีมากถึง 8 ล้านตัน หรือต้องนำเข้า 3 ล้านตัน ขณะที่กากถั่วเหลือง ผลิตได้ต่ำกว่าปีละ 2 ล้านตัน แต่ความต้องการใช้มีมากถึง 4.2 ล้านตัน หรือต้องนำเข้าประมาณ 2.2 ล้านตัน ส่วนปลาป่น ผลิตได้ต่ำกว่าปีละ 300,000ตัน แต่ความต้องการใช้มีมากถึง 600,000 ตัน หรือต้องนำเข้าประมาณ 300,000 ตัน
ด้าน น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.ยังอนุมัติเปิดตลาดนำเข้านมผงขาดมันเนย ปี 2566 เพิ่มเติมปริมาณ 10,031.55 ตัน ในอัตราภาษี 5% ขณะเดียวกัน ได้เห็นชอบในการเปิดตลาดนำเข้านมและครีม ปี 2566 เพิ่มเติม ปริมาณ 700.18 ตัน ในอัตราภาษี 20% และมอบหมายให้คณะกรรมการโคนมฯ เป็นผู้บริหารการจัดสรรโควตานำเข้านมผงขาดมันเนย นมและครีม ปี 2566 เพิ่มเติมดังกล่าวให้กับผู้ประกอบการตามความจำเป็นและเดือดร้อนจากการขาดแคลนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต.