พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ 39 มาตรการช่วยเหลือทางการเงินของส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ ภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ.2567 ให้แก่ประชาชน
สำหรับประเด็นมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 2566 นี้ ล่าสุดกระทรวงการคลังได้รับมติเห็นชอบจาก ครม. ในการต่ออายุมาตรการดังกล่าวเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยจะทำการลดค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์จาก 2% เหลือ 1% และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จาก 1% เหลือ 0.01% (เฉพาะการโอนและจดจำนองในคราวเดียวกัน) สำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยที่มีราคาซื้อขายราคาประเมินทุนทรัพย์ และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อสัญญา ไม่รวมถึงกรณีการขายเฉพาะส่วน
ซึ่งจะช่วยสนับสนุนผู้ขายอสังหาริมทรัพย์ทั้งมือ 1 และมือ 2 และช่วยบรรเทาภาระของผู้ซื้อที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง อีกยังเป็นการยกระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาฯ และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ตลาดอสังหาฯ ไทยยังไม่ได้มีปัจจัยบวก แต่ประชาชนก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีที่อยู่อาศัย
คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะสามารถเพิ่มการเติบโตของ GDP ที่ 0.5% จากการคาดการณ์ GDP ปี 2567 ที่จะขยายตัวอยู่ที่ 3.2%
ผอ.สศค. กล่าวด้วยว่า กระทรวงการคลัง คาดว่าจะสูญเสียรายได้จากการลดภาษีดังกล่าวประมาณ 5,000 ล้านบาท แต่คุ้มค่ากับผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากภาคอสังหาฯ เป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักทางเศรษฐกิจของไทยที่มีความเกี่ยวเนื่องทางซัพพลายเชนขนาดใหญ่ ทั้งภาคการจ้างงาน ภาคการขนส่ง ภาคการก่อสร้าง ที่จะได้รับอานิสงส์ไปตามๆ กัน
ทั้งนี้ในขั้นตอนต่อไป กระทรวงมหาดไทยโดยกรมที่ดิน จะดำเนินร่างกฎกระทรวงเพื่อกำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการโอน และจำนองอสังหาฯ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน 1 ฉบับ และตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 1 ฉบับ รวมเป็น 2 ฉบับ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2567.