รู้หรือไม่? ไม่ใช่เพียงภาคอุตสาหกรรม และการก่อสร้างเท่านั้น ที่เป็นต้นเหตุสำคัญ ของวิกฤติฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทย แต่ภาคบริการ เช่น สาขาการขนส่ง สถานที่เก็บสินค้า และการขายปลีก ก็เป็นหนึ่งในภาคธุรกิจ ที่ปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุด และยังเป็นตัวการสำคัญของการปลดปล่อยฝุ่นควัน PM 2.5 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ศึกษามาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ตลอดจนการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของต่างประเทศ พบหลายๆ ประเทศทั่วโลก ได้เปลี่ยนบทบาทของ ผู้ร้ายที่ว่า มาสู่ ผู้เล่นสำคัญ ในการฝ่าวิกฤติฝุ่น PM 2.5 อย่างน่าสนใจ เช่น
- สหภาพยุโรป มีแนวทางพัฒนาธุรกิจภาคบริการให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องตามนโยบาย European Green Deal ที่มุ่งส่งเสริมธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น ยกระดับธุรกิจจัดการของเสีย สู่การเป็นธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มต่อการผลิตสินค้าและบริการทั้งระบบ เป็นต้น
- สหรัฐอเมริกา ใช้กลไกอำนาจระดับมลรัฐ จำกัดการใช้ยานยนต์เครื่องสันดาปและส่งเสริมให้ใช้ยานยนต์พลังงานทางเลือก
- สิงคโปร์กำหนดโทษทั้งทางแพ่งและอาญาแก่ผู้ประกอบการที่มีส่วนร่วมให้เกิดฝุ่นควัน ข้ามพรมแดน ซึ่งเห็นผลอย่างชัดเจนจากการที่นักธุรกิจสิงคโปร์ที่ลงทุนประกอบธุรกิจในอินโดนีเซียลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นควันลงได้อย่างมีนัยสำคัญ
- จีน หน่วยงานระดับภูมิภาคและท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการควบคุมปริมาณการใช้ ยานพาหนะ รวมถึงการสนับสนุนให้ใช้ยานพาหนะพลังงานทางเลือก และการควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมและครัวเรือนให้ลดการใช้พลังงานถ่านหินและเปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาด
- มอลตา และอีกหลายประเทศ ที่กำหนดให้รถที่มีอายุการใช้งานสูงกว่าต้องเสียภาษีสูงกว่า
ฝุ่น PM 2.5 ฉุดเศรษฐกิจไทยวูบ 6%
ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ภาคบริการ นับเป็นภาคธุรกิจที่มีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจของไทย ย้อนปี 2565 ภาคบริการ มีสัดส่วนสูงถึง 58.71% ของ GDP มูลค่ากว่า 10.2 ล้านล้านบาท และมีผู้ประกอบการมากถึงกว่า 2.6 ล้านราย มีการจ้างงานกว่า 12.8 ล้านคน
ครอบคลุมธุรกิจหมวดใหญ่ๆ ถึง 15 สาขา เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของประชาชน เช่น กิจกรรมการค้าส่ง-ค้าปลีก ตัวกลางจัดหาสินค้าจากภาคการผลิตทางเกษตรและอุตสาหกรรมสู่ผู้บริโภค กิจกรรมการขนส่ง และจัดเก็บสินค้า หรือ ธุรกิจโลจิสติกส์ กระจายสินค้าไปยังพื้นที่ต่างๆ รวมถึง การขนส่งผู้โดยสาร ที่เชื่อมโยงวิถีชีวิตของผู้คนก็ด้วย
ท่ามกลางข้อมูลชวนตกใจ เกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากฝุ่น PM 2.5 ที่ประเทศไทยเผชิญในแต่ละปี โดยรายงานการติดตามสภาวะเศรษฐกิจไทยฉบับเดือนธันวาคม 2566 ของธนาคารโลกระบุว่า ไทยประสบความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 6% ของ GDP จากผลกระทบของวิกฤติฝุ่นควัน PM 2.5 ต่อ สุขภาพของประชาชน และให้คำแนะนำว่า ไทยควรใช้มาตรการเก็บภาษีคาร์บอน หรือการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ย้อนกลับมาที่ ภาคธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขวิกฤติฝุ่นควัน ได้แก่ สาขากิจกรรมทางวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ ซึ่งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับไทยถึงกว่า 2.93 แสนล้านบาท มีผู้ประกอบการกว่า 8.43 หมื่นราย มีการจ้างงานกว่า 6.41 แสนคน ครอบคลุมทั้งการวิจัยและพัฒนาเชิง ทดลองทางวิทยาศาสตร์ด้านต่างๆ ทางวิศวกรรมศาสตร์ กระทั่งกิจกรรมการให้คำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม
8 ทางออก บทบาทภาคบริการ กับการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5
- สนับสนุนธุรกิจในสาขากิจกรรมทางวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ ให้เกิดการวิจัยและพัฒนาให้ได้เทคโนโลยีทดแทนการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในที่โล่ง ลดความซับซ้อนยุ่งยาก เพื่อให้เกษตรกรทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน นำไปใช้ได้อย่างแท้จริงและแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- สนับสนุนธุรกิจในสาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า ทั้งการขนส่งสินค้าและการขนส่ง ผู้โดยสาร ให้ใช้ยานยนต์พลังงานทางเลือกที่สะอาดและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น พลังงานไฟฟ้า และพลังงาน ไฮโดรเจน ตลอดจนเร่งผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการใช้งานยานยนต์พลังงาน ทางเลือกเหล่านั้น
- สนับสนุนธุรกิจในสาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ให้มีระบบติดตามและตรวจสอบย้อนกลับที่ง่ายและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคมีข้อมูลในการเลือกซื้อสินค้าและบริการที่ปลดปล่อยฝุ่นควัน ตลอดจนคาร์บอนในระดับต่ำได้ รวมถึงยังเป็นข้อมูลที่จะมีความสำคัญยิ่งขึ้นในการค้าระหว่างประเทศ
- สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของภาคธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้สามารถเก็บข้อมูลและบริหาร จัดการห่วงโซ่อุปทานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดอัตราการปลดปล่อยฝุ่นควัน PM 2.5 และคาร์บอน
- สนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อให้ผู้ประกอบการใช้ในการปรับเปลี่ยนที่จากเป็นเพื่อให้ธุรกิจของตน สามารถลดการปลดปล่อยฝุ่นควัน PM 2.5 และคาร์บอนได้
- สนับสนุนให้เกิดการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการบริการและด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ซึ่งกันและกัน รวมถึงสามารถเป็นกระบอกเสียงสะท้อน ความต้องการมายังภาครัฐได้อย่างมีพลัง
- สนับสนุนหน่วยงานภาครัฐให้พิจารณาการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น เช่น การจ้างบริการรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ตลอดจนพิจารณาห่วงโซ่อุปทานของสินค้าและบริการที่หน่วยงานใช้ ให้ลดอัตราการปลดปล่อยฝุ่นควัน PM 2.5 และคาร์บอน
- ดำเนินนโยบายร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านในการร่วมกันแก้ไขปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดน
อย่างไรก็ดี ภาคธุรกิจและผู้บริโภคอาจจำเป็นจะต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลง รวมถึงอาจมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องบางส่วนสูงขึ้นกว่าปัจจุบันบ้าง แต่จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าต่อสุขภาพและอนาคต