นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 67 ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,258 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 10-16 ธ.ค.66 ว่า ปีใหม่ปี 67 บรรยากาศคึกคักมาก คาดจะมีมูลค่าการใช้จ่าย 105,924 ล้านบาท ขยายตัว 2.8% เมื่อเทียบปี 66 ที่มีเงินสะพัด 103,039 ล้านบาท ถือว่าสูงสุดในรอบ 4 ปี แม้ประชาชนยังระวังการใช้จ่ายอยู่บ้าง เพราะกังวลเรื่องของเศรษฐกิจ ทำให้ช่วงปีใหม่ปีนี้คนยังลังเลในการท่องเที่ยว ส่วนใหญ่จึงท่องเที่ยวในประเทศ เที่ยวใกล้ๆ และใช้เงินน้อย โดยเงินท่องเที่ยวในประเทศอยู่ที่ 54,074 ล้านบาท ส่วนต่างประเทศอยู่ที่ 4,104 ล้านบาท
“จากการถามความเห็นประชาชนเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยปีหน้า ส่วนใหญ่มองว่าจะขยายตัวได้ต่ำกว่า 3% ส่วนนักวิชาการ คาด 3.1-3.5% ขณะที่รัฐบาลคาดขยายตัวได้ 4% จากมาตรการดิจิทัล วอลเล็ต แต่ในความรู้สึกของประชาชนยังไม่เชื่อแบบนั้น”
ด้านนางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ประชาชนบ่นเรื่องค่าครองชีพสูง ปัญหาหนี้สิน ดอกเบี้ยปีนี้ที่เพิ่มขึ้นมาก แต่มีสัญญาณจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่อาจมีแนวโน้มไม่ขึ้นดอกเบี้ย ประกอบกับเงินเฟ้อของไทยไม่มีปัญหา และมีความห่วงใยเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจ และดอกเบี้ยที่ยังเป็นขาขึ้น จึงอ้อนวอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้กำหนดนโยบาย สถาบันการเงิน ทบทวนการปรับขึ้นดอกเบี้ย เพราะการปรับขึ้นอีก จะซ้ำเติมประชาชน เอสเอ็มอี และส่งผลต่อหนี้ ทั้งในและนอกระบบ ขณะที่แบงก์มีกำไรเพิ่มขึ้น อยากให้ช่วยกันดูแลดอกเบี้ย เป็นของขวัญให้ประชาชน ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหาหนี้ลดความร้อนแรง และมีภาระลดลง
ส่วนนายวาทิตร รักษ์ธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 67 คาดจะมีเงินสะพัด 105,924 ล้านบาท ขยายตัว 2.8% สำหรับเงินที่นำมาใช้จ่าย ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเงินเดือน/รายได้ตามปกติ แต่มีการนำเงินออมมาใช้จ่าย และสัดส่วนผู้ตอบที่นำเงินออมมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 37.4% จากปีก่อนที่ตอบ 33.1% เท่านั้น
สิ่งที่ต้องการได้เป็นของขวัญจากรัฐบาล คือ ลดค่าครองชีพ, กระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว, ปฏิรูปภาครัฐ ปราบปรามการทุจริต รัฐบาลโปร่งใสตรวจสอบได้, ดูแลค่าจ้าง/ เงินเดือนให้เหมาะสมกับความสามารถและค่าใช้จ่าย ขณะที่สิ่งที่อยากให้รัฐบาลดำเนินการ คือ ดูแลการมีงานทำ/สร้างงาน สร้างรายได้, การเข้าถึงแหล่งเงินทุน/เงินกู้, แก้ไขปัญหายาเสพติด, ดูแลค่าครองชีพ, แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และแก้ปัญหาความยากจน
ขณะที่นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารหอการค้าไทย เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.66 นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมด้วย และได้ชี้แจงแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งในและนอกระบบของภาครัฐ โดยหอการค้าไทย และเครือข่ายพร้อมให้การสนับสนุนและร่วมมือกับรัฐบาล และจะนำประเด็นดังกล่าวไปหารือในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ให้มีศักยภาพในการชำระหนี้และมีเงินหมุนเวียนดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไป
ด้านนายกิตติรัตน์กล่าวว่า จากการติดตามปัญหาหนี้นอกระบบ เชื่อว่ามีจำนวนมูลหนี้อยู่อีกไม่น้อยกว่า 500,000 ล้านบาท ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้มีการแก้ไข พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดคือการปล่อยกู้เกินกว่า 15% ต่อปีหรือเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดโดยการจัดการหนี้นอกระบบจะเป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย ผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ยและนำไปสู่ข้อยุติ โดยเจ้าหนี้สามารถจดทะเบียนใบอนุญาตปล่อยสินเชื่อเข้าในระบบที่ถูกต้องได้ เช่น นาโนไฟแนนซ์ หรือพิโกไฟแนนซ์ เป็นต้น.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่