ร้านค้าปลีกในจีนแข่งขันเดือด หันใช้ “สงครามราคา” แย่งกำลังซื้อเพื่อความอยู่รอด

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ร้านค้าปลีกในจีนแข่งขันเดือด หันใช้ “สงครามราคา” แย่งกำลังซื้อเพื่อความอยู่รอด

Date Time: 21 ธ.ค. 2566 16:33 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • ธุรกิจค้าปลีกจีนแข่งขันเดือด ใช้กลยุทธ์ตัดราคา หวังรักษาส่วนแบ่งการตลาด หลังคนกำลังซื้อหด นิยมเข้าร้านสะดวกซื้อ กดดันเจ้าใหญ่ขายสินค้าราคาถูกลง

Latest


ท่ามกลางเศรษฐกิจจีนที่ซบเซา ธุรกิจค้าปลีกต่างต้องงัดกลยุทธ์การตลาด แข่งขันเพื่อความอยู่รอด จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ขายตัดราคา ลดราคาสินค้าให้ต่ำที่สุด เพื่อดึงดูดผู้บริโภค


นับว่าเป็นปีที่ไม่สดใสนักสำหรับเศรษฐกิจจีน เนื่องจากต้องเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง โดยเฉพาะวิกฤติหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักทางเศรษฐกิจ ที่ส่งผลกระทบเป็นโดมิโนไปยังภาคส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะภาคการเงิน สะท้อนผ่านดัชนีหุ้นจีนที่ปรับตัวลงต่ำสุดในรอบ 20 ปี อัตราว่างงานที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์  ปัจจัยที่กล่าวมาล้วนกดดันให้กำลังซื้อภายในประเทศลดลง


ขณะที่ ดัชนีความเจริญกิจการค้าปลีกของจีน (CRPI) ในเดือน พ.ย. อยู่ที่ 50.8% ลดลง 0.5% จากเดือนที่แล้ว แสดงถึงความซบเซาของภาคการค้าปลีก ทำให้ธุรกิจค้าปลีกหันมาใช้กลยุทธ์ขายตัดราคาให้ถูกที่สุด และลดขนาดสินค้า เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดจากลูกค้าที่กำลังซื้อลดลง กลยุทธ์ดังกล่าวส่งผลให้ราคาขายเฉลี่ย สำหรับสินค้าหลายประเภทลดลง รวมถึงอาหารเสริม ผลิตภัณฑ์นม ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว และเครื่องสำอาง ซึ่งในระยะยาวจะเป็นการทำลายวงจรการค้าปลีก ลดความสามารถการทำกำไรของธุรกิจ ทำให้ธุรกิจต้องลดต้นทุนพนักงาน ซ้ำเติมปัญหาการว่างงาน ซึ่งจะยิ่งฉุดรั้งกำลังซื้อของผู้บริโภค และเพิ่มความเสี่ยงให้เศรษฐกิจจีนเข้าสู่ภาวะเงินฝืด

แม้ปรากฏการณ์การขายตัดราคา จะเป็นความเสี่ยงที่ทำลายวงจรค้าปลีก และฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจจีน แต่ก็เป็นโอกาสสำหรับ Discount store หรือร้านสะดวกซื้อที่ขายของถูกกว่า super market และห้างสรรพสินค้า ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมารัดเข็มขัดค่าใช้จ่าย ซื้อของราคาถูกลง กดดันให้ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ต้องประกาศลดราคา เพื่อรักษาส่วนแบ่งในตลาด 


จะเห็นได้จากแบรนด์ขนมขนาดเล็ก Lingshi Henmang ที่ขายราคาถูกกว่าขนมใน super market ทั่วไป ประกาศขยายสาขาเป็น 10,000 สาขา ในปี 2568 จากปัจจุบันที่มีหน้าร้านอยู่ 4,000 สาขา ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการขนมที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง


“ตลาดมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 และพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้เหตุผลมากขึ้นในการตัดสินใจซื้อ” บริษัทระบุในแถลงการณ์


การเคลื่อนไหวดังกล่าวสะเทือนไปถึง Bestore แบรนด์ขนมที่ใหญ่ที่สุดของจีน ต้องรีบออกกลยุทธ์รักษาความเป็นเจ้าตลาดด้วยการลดราคาสินค้าลงเฉลี่ย 22% สำหรับผลิตภัณฑ์ 300 รายการ โดยลดราคาสูงสุดที่ 45% ถือเป็นการลดราคาครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา.

อ้างอิง : Reuters


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ