นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี ได้มีมติอนุมัติมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ในช่วงเวลา 4 ปี (พ.ศ.2567-2570)
โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2567 เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และผลักดันไทยก้าวสู่การเป็นฐานผลิตชั้นนำของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค โดย บีโอไอ จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน จัดประชุมชี้แจงรายละเอียดของมาตรการ EV 3.5 รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งบอร์ดบีโอไอได้เห็นชอบเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 โดยจะมีบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำทั้งรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ เข้าร่วมกว่า 30 ราย
ทั้งนี้ มาตรการ EV 3.5 เป็นมาตรการที่ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนอุตสาหกรรม EV อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นฮับยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค การออกมาตรการ EV 3.5 ในครั้งนี้จะสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรม EV ในประเทศไทยเพิ่มเติม ทั้งการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายเดิมเปลี่ยนผ่านไปสู่ EV และการดึงบริษัทรถยนต์รายใหม่ๆ ให้เข้ามาตั้งฐานผลิตในประเทศเพิ่มเติมด้วย
ซึ่งบีโอไอในฐานะเลขานุการของบอร์ด EV ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเดินหน้าผลักดันเต็มที่ เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด ภายในปี 2573 ตลอดจนสามารถรักษาความเป็นผู้นำด้านยานยนต์อันดับ 1 ในอาเซียน และ 1 ใน 10 ของโลก และสนับสนุนเป้าหมายของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจก และก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ.2050 อีกด้วย
สำหรับมาตรการ EV 3.5 จะมีผลใช้บังคับในช่วงปี 2567-2570 โดยครอบคลุมทั้งรถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยสิทธิประโยชน์ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ เงินอุดหนุน การลดอัตราอากรขาเข้ารถยนต์สำเร็จรูป และการลดอัตราภาษีสรรพสามิต โดยเงินอุดหนุนจะเป็นไปตามประเภทของรถ และขนาดของแบตเตอรี่ ดังนี้
กรณีรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท/คันในปีที่ 1 75,000 บาท/คันในปีที่ 2 และ 50,000 บาท/คันในปีที่ 3-4 สำหรับรถที่มีขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน 50,000 บาท/คันในปีที่ 1 35,000 บาท/คันในปีที่ 2 และ 25,000 บาท/คันในปีที่ 3-4
กรณีรถกระบะไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท/คัน ตลอดระยะเวลา 4 ปี เฉพาะส่วนที่ผลิตในประเทศ
กรณีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 150,000 บาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน 10,000 บาท/คัน ตลอดระยะเวลา 4 ปี เฉพาะส่วนที่ผลิตในประเทศ
นอกจากนี้ภายใต้มาตรการ EV 3.5 จะมีการลดอากรขาเข้าไม่เกินร้อยละ 40 สำหรับการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูป (CBU) ที่มีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ในช่วง 2 ปีแรก (พ.ศ.2567-2568) และลดอัตราภาษีสรรพสามิตจากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2 สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท
โดยได้กำหนดเงื่อนไขการลงทุนในประเทศ ให้ผู้ได้รับการสนับสนุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อชดเชยการนำเข้าภายในปี 2569 ในอัตราส่วน 1 : 2 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน) และจะเพิ่มอัตราส่วนเป็น 1 : 3 ในปี 2570 โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเดิมที่เข้าร่วมมาตรการ EV3 แล้ว หากมีความประสงค์จะเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ให้สามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ได้ โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของแต่ละมาตรการ
ภายใต้มาตรการ EV 3.5 กรมสรรพสามิต คาดว่าจะมียานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการสนับสนุนตลอดระยะเวลา 4 ปี จำนวนประมาณ 830,000 คัน โดยแบ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 454,000 คัน รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 346,000 คัน และรถกระบะไฟฟ้า 30,000 คัน โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณจำนวน 34,000 ล้านบาท ตลอดระยะเวลา 4 ปี
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้กรมสรรพสามิตขยายเวลาการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิตามมาตรการ EV 3 จากเดิมที่ต้องจดทะเบียนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ให้ขยายเวลาเป็นต้องจำหน่ายภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และต้องจดทะเบียนภายในวันที่ 31 มกราคม 2567 เพื่อให้ผู้บริโภคที่ตัดสินใจซื้อยานยนต์ไฟฟ้าในช่วงปลายปี 2566 สามารถยื่นจดทะเบียนได้ทันภายในเดือนมกราคม 2567.
#EV35 #ยานยนต์ไฟฟ้า #บีโอไอ #มาตรการภาษี #รถยนต์อีวี #ภาษีรถยนต์