รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับมาตรการแก้หนี้ของรัฐบาลมาแล้วถึง 3 ครั้ง 3 คราว โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 พ.ย.66 ประกาศปักธงแก้หนี้นอกระบบ วันที่ 8 ธ.ค.66 ให้นโยบายการทำงานแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และวันที่ 12 ธ.ค.66 แถลงแก้ปัญหาหนี้ในระบบ ประกาศปัญหาหนี้ของประชาชน ถือเป็นวาระแห่งชาติ และเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข
ด้วยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยสูงถึง 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) คิดเป็นมูลค่า 16 ล้านล้านบาท สูงติดท็อปของโลก ขณะที่รายได้ไม่ได้ติดท็อปความร่ำรวยของโลก
การเป็นหนี้ไม่ใช่สิ่งชั่วร้าย การเป็นหนี้ เพื่อนำมาสร้างอาชีพ สร้างรายได้ นำมาซึ่งทรัพย์สิน บ้าน รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ที่ดิน เป็นเรื่องที่ดี ถือเป็นการสร้างฐานะให้หลุดพ้นความยากจน แต่เมื่อเป็นหนี้...ต้องใช้หนี้อย่างมีวินัย เพราะหากเป็นหนี้ แต่ขาดวินัยทางการเงิน ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ทำให้รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ต้องกู้ ต้องหยิบยืม กู้จากคนนั้น มาใช้หนี้คนนี้ วนไปเรื่อยๆ ไม่จบสิ้น พอปลดหนี้ไม่ได้ก็ต้องจนต่อไป รัฐบาลจึงต้องกำหนดมาตรการแก้หนี้...แก้จนให้ชัดเจน เพื่อมิให้คนกลับไปเป็นหนี้เสียและหนี้นอกระบบอีกต่อไป
สำหรับการเป็นหนี้นอกระบบนั้น รัฐบาลได้สั่งการให้นายอำเภอ และตำรวจในท้องถิ่น ช่วยเจรจาประนอมหนี้ สำหรับผู้ที่จ่ายเงินต้นครบถ้วนแล้ว และเปิดให้ลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ ทางออนไลน์ที่ https://debt.dopa.go.th หรือลงทะเบียนได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตทั่วประเทศ ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 66 -29 ก.พ.67 ซึ่ง ณ วันที่ 14 ธ.ค. 66 มีประชาชนมาลงทะเบียนแล้ว 94,415 ราย มูลหนี้ 5,458.426 ล้านบาท จากเจ้าหนี้ 64,961 ราย
ส่วนหนี้ในระบบนั้น ลูกหนี้จะต้องไปดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ หรือไปยื่นเรื่องกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ เพื่อเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ ลดต้น ลดดอกเบี้ย ปลดหนี้ เป็นต้น เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ขณะที่ภาครัฐได้มอบหมายหน้าที่ให้สถาบันการเงินของรัฐ ทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและ สหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน นอกจากจะต้องช่วยลูกหนี้ พักต้น พักดอกเบี้ย ปรับโครงสร้างหนี้ ยกหนี้ให้แล้วยังต้องให้ความรู้ทางการเงินแก่ลูกหนี้ด้วย เพื่อจะได้มีวินัยทางการเงิน รวมถึงการสร้างอาชีพ เพื่อการก่อหนี้ในวันข้างหน้า จะได้ขยับเป็นลูกหนี้ชั้นดีได้
ทั้งนี้ รัฐบาลได้แบ่งกลุ่มลูกหนี้ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รัฐบาลจะออกมาตรการช่วยเหลือให้หลุดพ้นจากการเป็นหนี้เสีย รวมถึงพักชำระหนี้เป็นการชั่วคราว โดยลูกหนี้กลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่มากู้ยืมเงินสถาบันการเงินของรัฐในช่วงการแพร่ระบาดโควิด มีราว 1.1 ล้านราย ซึ่งหลังจากกระทรวงการคลัง เสนอมาตรการ ช่วยเหลือให้ครม.อนุมัติ สถาบันการเงินเจ้าหนี้ จะติดต่อไปยังลูกหนี้ ให้เข้าเคลียร์หนี้สินให้จบ บางรายอาจหลุดพ้นการถูกขึ้นบัญชีเครดิตบูโร และในอนาคตสามารถไปยื่นกู้ได้
กลุ่มที่ 2 คือ ลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ แต่มีหนี้จำนวนมาก แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย ได้แก่ ข้าราชการ ครู ตำรวจ ทหาร ที่มีหนี้กับสถาบันการเงิน และหนี้บัตรเครดิต จะช่วยเหลือผ่าน 3 แนวทาง คือ 1.ลดดอกเบี้ยสินเชื่อ 2.โอนหนี้ทั้งหมดไปไว้ในที่เดียว เช่น ที่สหกรณ์ เพื่อให้การตัดเงินเดือนนำมาชำระหนี้ทำได้สะดวก และสอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ 3.บังคับใช้หลักเกณฑ์การตัดเงินเดือน ให้ลูกหนี้มีเงินเดือนเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี โดยทั้ง 3 แนวทางนี้ต้องทำพร้อมกันทั้งหมด
สำหรับลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล หากเป็นหนี้เสีย สามารถเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ของธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) ซึ่งได้ร่วมกับเจ้าหนี้บัตรเครดิตรายใหญ่เกือบทั้งหมด ช่วยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ โดยนำเงินต้นคงค้างมาทำตารางผ่อนชำระใหม่ให้ยาวถึง 10 ปี และลดดอกเบี้ย จาก 16-25% เหลือเพียง 3-5% เท่านั้น
กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน เช่น เกษตรกร ลูกหนี้เช่าซื้อ และลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยในส่วนนี้ รัฐบาลได้แก้ปัญหาให้แล้ว มีโครงการพักหนี้เกษตรกร ซึ่งพักทั้งต้น และดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 1.5 ล้านคน
ส่วนลูกหนี้ กยศ. ได้ปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งลดดอกเบี้ย ลดเบี้ย ปรับเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้ และยกเลิกผู้ค้ำประกัน ซึ่งจะช่วยลูกหนี้ กยศ.ได้กว่า 2.3 ล้านราย ขณะที่ลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกประกาศ เพื่อกำหนดดอกเบี้ยเช่าซื้อ เช่น กรณีเช่าซื้อรถใหม่คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 10% ต่อปี และรถจักรยานยนต์ไม่เกิน 23% ต่อปีและลดดอกเบี้ยผิดนัดให้ต่ำลง รวมทั้งให้ส่วนลด หากลูกหนี้ปิดบัญชีได้ก่อนกำหนด
กลุ่มที่ 4 กลุ่มนี้เป็นหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินของรัฐมาเป็นระยะเวลานาน จะโอนหนี้ไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินของรัฐ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งจะช่วยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้คล่องตัวขึ้น คาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มนี้ได้ 3 ล้านราย
ทั้งหมดนี้เป็นการแบ่งกลุ่ม เพื่อง่ายต่อการแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบของรัฐบาล ส่วนจะแก้ปัญหาหนี้ได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ ต้องรอดูว่ารัฐบาลจะเอาจริงแค่ไหน...ภายใต้เป้าหมายแก้หนี้ทั้งระบบภายในเวลา 10 ปี บุคคลนั้นจะไม่เป็นหนี้เสีย ไม่เป็นหนี้นอกระบบอีกต่อไป.
ดวงพร อุดมทิพย์
คลิกอ่านคอลัมน์ “The Issue” เพิ่มเติม