“อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ” นั้น หมายถึงอัตราค่าจ้างที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งเป็นแรงงานไร้ฝีมือเมื่อแรกเข้าทำงาน เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว (ตัวลูกจ้าง + ภรรยา 1 + บุตร 2 คน) ให้อยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข โดยนับเป็นเกณฑ์การพิจารณาตามหลักสากลทั่วไป
แต่รู้หรือไม่? หลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทางเศรษฐกิจ รวมถึงประเทศไทยด้วย มิได้ใช้คำนิยามดังกล่าว
ข้อมูลและมุมมองเกี่ยวกับทิศทางการปรับขึ้นค่าแรงของไทยในปี 2567 ล่าสุด รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การเงินและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เห็นด้วยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้นปี 2567 เพราะหากไทยไม่ปรับขึ้นค่าแรงให้เหมาะสม อาจประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้
อีกทั้งการปรับเพิ่มค่าจ้างจะช่วยสนับสนุนกำลังซื้อภายในระบบเศรษฐกิจ โดยที่ประเมินว่าจะมีผลต่อแรงกดดัน “เงินเฟ้อ” น้อยมาก เนื่องจากไม่ได้ปรับขึ้นแบบก้าวกระโดด ขณะเดียวกัน เสนอว่าระบบไตรภาคีต้องปรับค่าจ้างของแรงงานนอกระบบให้เป็นค่าจ้างที่เพียงพอแก่การดำรงชีวิต (Living Wage)
โดยเหตุค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันนั้นไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ขณะแรงงานนอกระบบมักมีสภาพการจ้างที่ไม่เป็นทางการ ไม่เป็นธรรม ขาดความมั่นคงในงาน และไม่มีสวัสดิการแรงงาน รวมทั้งมักถูกเลือกปฏิบัติจากกฎหมายคุ้มครองแรงงาน วันไหนขาดงานก็จะไม่ได้ค่าจ้าง แม้จะลางานเนื่องจากการเจ็บป่วยก็ตาม
รศ.ดร.อนุสรณ์ ยังระบุว่า อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำของไทย ควรนำหลักเกณฑ์ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ มาเป็นแนวทางในการพิจารณา และต้องพิจารณาดูความสามารถในการจ่ายของนายจ้างและความพร้อมของภาคการผลิตและระบบเศรษฐกิจอีกด้วย
“หากเราสามารถจ่ายได้ตามคำนิยามขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ สถาบันครอบครัวจะเข้มแข็งขึ้น ลูกๆ ของคนงานจะได้รับการดูแลให้ดีขึ้นด้วยค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงขึ้น แต่สถานประกอบการขนาดเล็กอาจไม่มีความสามารถในการจ่าย การปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในแต่ละปีนั้น แต่ละประเทศก็จะมีแนวทางและหลักเกณฑ์ของตนเองแตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่จะพิจารณาจากการปรับเพิ่มขึ้นของภาวะค่าครองชีพของปีนั้นๆ เป็นหลัก”
ทั้งนี้ หากภาวะค่าครองชีพปรับเพิ่มขึ้นไปกี่เปอร์เซ็นต์ ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำก็จะต้องปรับเพิ่มตามไปเท่านั้น เรียกว่าปรับเพิ่มตามภาวะค่าครองชีพ เพื่อให้ลูกจ้างมีรายได้เพียงพอกับภาวะค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่ลูกจ้างอาจไม่มีเงินเพียงพอในการเก็บออม คณะกรรมการค่าจ้างประกอบด้วย ตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ หรือระบบไตรภาคี เป็นผู้พิจารณากำหนด ประเทศไทยใช้มาทั้งระบบอัตราเดียวทั่วประเทศ และระบบหลายอัตรากำหนดตามพื้นที่กลุ่มจังหวัดต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ในหลายพื้นที่ของประเทศ องค์กรลูกจ้างมีความอ่อนแอหรือไม่มีองค์กรลูกจ้างอยู่ การปรับเพิ่มค่าจ้างจะน้อยมาก การปรับเพิ่มขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจึงขึ้นอยู่กับอำนาจตัดสินใจของนายจ้างและรัฐบาลเป็นหลัก ส่วนค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นเท่าไรก็อยู่ที่การเจรจาหารือกันในระบบไตรภาคี ส่วนการปรับขึ้นเท่าไรก็ต้องดูความสามารถในการจ่ายของนายจ้างและภาวะเศรษฐกิจด้วย
อย่างไรก็ตาม ควรปรับค่าแรงขั้นต่ำอย่างน้อยให้สูงกว่าเงินเฟ้อ ขบวนการแรงงานและองค์กรผู้ใช้แรงงานเคยเสนอให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาทอัตราเดียวทั่วประเทศมาหลายปีแล้ว การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ
โดยการปรับเพิ่มขึ้นเท่าไรนั้นควรต้องพิจารณาอย่างรอบคอบทุกมิติ เพื่อให้เกิดผลดีต่อสวัสดิภาพต่อแรงงานอย่างแท้จริง และเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจ ไม่เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อ รวมทั้งเพิ่มต้นทุนของการผลิตมากเกินไป การตัดสินใจต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและใช้กลไกไตรภาคี