นักเศรษฐศาสตร์วิพากษ์นโยบายเศรษฐกิจ รัฐนาวา "เศรษฐา"

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

นักเศรษฐศาสตร์วิพากษ์นโยบายเศรษฐกิจ รัฐนาวา "เศรษฐา"

Date Time: 18 ธ.ค. 2566 09:01 น.

Latest

ปั้นที่ดินเขาไม้แก้ว 1,400 ไร่ เป็นเมืองใหม่ชลบุรี "ทีปสุวรรณ" ผุดโครงการบ้านหรูหมื่นล้าน

ตลอดระยะเวลา 90 วันของรัฐนาวา “เศรษฐา ทวีสิน” นอกจากภารกิจชีพจรลงเท้า เดินสายโรดโชว์ทั่วโลกแล้ว...ยังเป็น 90 วันแห่งการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เริ่มตั้งแต่นโยบายหาเสียงหลัก “การแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต” จนถึงการประกาศแก้หนี้ทั้งในและนอกระบบ รวมทั้งการปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ

ในสายตาของเราๆท่านๆ นโยบายที่รัฐบาลกำลังมุ่งหน้าไปสู่ สะท้อนให้เห็นความพยายามในการแก้ปัญหาให้กับกลุ่มฐานราก ผู้ด้อยโอกาสอย่างชัดเจน...แต่ในสายตาของบรรดานักเศรษฐศาสตร์ ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมากกว่า พวกเขามองปรากฏการณ์ขับเคลื่อนนโยบายเหล่านี้อย่างไร “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ไปติดตามสัมภาษณ์มาเสนอต่อท่านผู้อ่าน ดังต่อไปนี้

บุรินทร์ อดุลวัฒนะ

กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

“สิ่งที่รัฐบาลกำลังแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟ ค่าน้ำมัน ค่าครองชีพ การแก้ปัญหาหนี้สิน เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ค่าครองชีพแพงที่เริ่มอยู่ในระดับที่สูงเกินไป เป็นปัญหาที่ต้องทำเฉพาะหน้าเหมือนไฟไหม้ อย่างน้อย...ผมได้เห็นความพยายาม”

สำหรับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ถือว่าเดินมาถูกทาง มีการคุยว่าระดับไหนจะเหมาะสมมากกว่ากัน ผมก็เข้าใจเหมือนนายกฯที่เพิ่มขึ้นวันละ 2 บาท รู้สึกไม่ได้ตอบโจทย์ค่าครองชีพที่สูงขึ้นมาก ประจวบกับไม่ได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาสักพักแล้ว จึงต้องขึ้นในระดับที่ทุกคนไปด้วยกันได้ เพราะการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้ทำได้บ่อย แต่ต้องดูแต่ละพื้นที่ และประสิทธิภาพของธุรกิจในแต่สาขา ซึ่งเป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องตีให้แตก”

บุรินทร์ อดุลวัฒนะ
บุรินทร์ อดุลวัฒนะ

สิ่งที่ต้องชมคือการแก้หนี้ ที่พูดกันมานานแล้ว ที่จับต้องได้คือการแก้หนี้ของข้าราชการและกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ช่วยคนได้หลายล้านคน ที่คนพูดกันว่าเหมือนเดิม ไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยน ผมได้ยินมาว่าคณะทำงานเขาจริงจัง เช่น สหกรณ์อาจจะอยู่ภายนอกการควบคุมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือกระทรวงการคลัง แต่ตอนนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็รับไม้ต่อแล้ว เป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะหนี้ข้าราชการ ต้องทำมาตรฐานให้เท่าเทียม การคิดดอกเบี้ย 10% กว่า ถือว่าไม่เหมาะสม และหนี้ข้าราชการหักจากเงินเดือนได้เลย เป็นหนี้ที่ไม่มีความเสี่ยง ดอกเบี้ยจึงควรปรับลดลงได้อีก หากแก้ตรงนี้ได้ข้าราชการจะครอบคลุม 2-3 ล้านคน เป็นจุดเริ่มทำให้ปัญหาเริ่มเบาลง

“การแก้หนี้นอกระบบ เหมือนมันอยู่ในเงามืด ยาก รู้สึกยังไม่ชัดเจน ไม่รู้ว่ามีหลักฐานรึเปล่า มีสัญญากู้เงินหรือไม่ ระบบมันยาก เราไม่รู้ว่ากู้จริงไหม อาจไม่ได้มีหลักฐานขนาดที่จะให้มากู้ธนาคารรัฐแทน กลัวจะมีการคอร์รัปชันอีกรอบ”

ส่วนนโยบายแจกเงินดิจิทัลอย่างที่ทุกคนทราบ อาจมีข้อกังวลเรื่องภาระหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น และการวางเงื่อนไขพื้นที่ภูมิลำเนา ซึ่งอาจมีค่าเดินทางแพง ไม่สะดวก การกระตุ้นเศรษฐกิจต้องหาความเหมาะสมว่าใครควรจะได้ แล้วไม่เป็นภาระ คนมีฐานะอาจไม่ต้องการกระตุ้นโดยการแจกเงิน แต่ต้องการให้ลดภาษี อย่างไรก็ตาม ตอนนี้รัฐบาลได้ทำตามกระบวนการ โดยส่งเรื่องไปปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกา การให้ผ่านระบบรัฐสภา และศาลรัฐธรรมนูญก็เริ่มไปแล้ว ถ้าในที่สุดรัฐบาลไม่ทำ ก็อาจมีแผนอื่นรองรับได้ เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการช้อปช่วยชาติ

ที่สุด หลังทำเรื่องเฉพาะหน้าไปแล้ว รัฐบาลต้องเพิ่มรายได้ให้กับประเทศและประชาชน สิ่งที่รัฐบาลทำได้ดีและมีความโดดเด่นคือการไปคุยกับบริษัทข้ามชาติให้มาลงทุน ซึ่งต้องใช้เวลา สิ่งที่เราขาดคือ การศึกษา คุณภาพของคนที่จะรองรับกับอุตสาหกรรมใหม่ๆ การปฏิรูปการศึกษาวันนี้กว่าจะเห็นผลก็อีก 10-15 ปี แต่ถ้าไม่ทำเลยก็ไม่ได้

นอกจากนั้น ผลจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของรัฐบาล ซึ่งทำให้รัฐบาลมีรายจ่ายเพิ่ม ทำให้ในระยะยาว รัฐบาลต้องหาวิธีเพิ่มรายได้ทางด้านภาษี ไม่ว่าจะเป็นภาษีมรดก ภาษีความมั่งคั่ง ภาษีที่ดิน หรือแม้กระทั่งการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มในสินค้าที่ไม่ใช่ปัจจัย 4 ด้วย

ไพบูลย์ นลินทรางกูร

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับนโยบายแก้หนี้นอก-ในระบบ ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นกำดักใหญ่บั่นทอนศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาและในระยะข้างหน้า ถ้าทำได้สำเร็จจะช่วยเพิ่มเสถียรภาพและศักยภาพของเศรษฐกิจไทยได้มาก แต่แนวทางแก้ปัญหาต้องระวังไม่ทำให้เกิด Moral Hazard หรือความเชื่อว่ารัฐจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออีกในอนาคต ซึ่งจะทำให้พฤติกรรมไม่เปลี่ยน นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องมุ่งแก้ที่รากเหง้าของปัญหาหนี้ของครัวเรือนในระยะยาว อาทิ หากการเป็นหนี้ เกิดจากรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพขั้นพื้นฐาน จำเป็นต้องหาทางยกระดับรายได้ของครัวเรือน เช่น การจัดระบบการศึกษาหรือจัดหาอาชีพที่ตรงกับความต้องการของตลาด เพื่อเป็นการยกระดับผลิตภาพของแรงงานและลดปัญหาความไม่สมดุลกันระหว่างอุปสงค์และอุปทานของตลาดแรงงาน

ไพบูลย์ นลินทรางกูร
ไพบูลย์ นลินทรางกูร

ขณะที่หากการเป็นหนี้เกิดจากการขาดวินัยการใช้จ่าย จำเป็นต้องปลูกฝังการวางแผนทางการเงิน รวมทั้งการลดการออกนโยบายที่มุ่งเน้นไปยังการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเชิงปริมาณมากกว่าเชิงคุณภาพ เช่นในอดีตที่มีการออกมาตรการซื้อรถคันแรกหรือบ้านหลังแรก เป็นต้น เพราะอาจก่อให้เกิดการก่อหนี้โดยไม่จำเป็นอีก โดยเฉพาะในกรณีที่ลูกหนี้มีเครดิตไม่เพียงพอ แต่ได้รับการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากขาดการควบคุมมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อ (Credit standard) ที่รัดกุม ซึ่งต้องอาศัยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดประกอบกัน

ผมยังเห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยควรปรับสูงกว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ หลังมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ในปี 2555 นั้น ค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 1% ต่อปีในช่วงปี 2556-2565 (อิงจากค่าแรงขั้นต่ำของ กทม.) ต่ำกว่าระดับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.2% ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน แต่สำคัญที่สุดคือ การปรับขึ้นค่าแรงต้องคำนึงถึงความสามารถในการปรับตัวของผู้ประกอบการ จากภาระต้นทุนแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานสูง จึงควรขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างค่อยเป็นค่อยไป มากกว่าขึ้นแบบก้าวกระโดด

ผมยังเห็นควรกับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต หากจะทำเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและจำกัดการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าและบริการที่จำเป็น ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดกว่า เนื่องจากเศรษฐกิจไทยถึงแม้อ่อนแอ แต่ยังไม่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะตกต่ำ จึงยังไม่จำเป็นต้องแจกเงินในวงกว้าง และควรนำงบประมาณส่วนที่เหลือไปส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตของประเทศ ซึ่งจะส่งผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนกว่าในระยะยาว การกระตุ้นการลงทุน น่าจะเป็นโจทย์ที่ใหญ่กว่าการกระตุ้นการบริโภค

นณริฏ พิศลยบุตร

นักวิชาการอาวุโส สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

เศรษฐกิจและสังคมได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง โจทย์การแก้ปัญหาของแต่ละรัฐบาลย่อมแตกต่างกันไป ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ ได้รับโจทย์ปัญหาเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกที่หนักหนาสาหัส และล้วนเป็นปัญหาใหญ่ เช่น คุณภาพการศึกษาของไทยจากผลการประเมิน (Programme for International Student Assessment : PISA) ถือว่าต่ำมาก แพ้คู่แข่งทั้งเวียดนาม สิงคโปร์, หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นถึง 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ถือว่าเป็นระดับสูงมาก ติดท็อปของโลก ทั้งๆที่รายได้ของประเทศไทยไม่ได้ร่ำรวยติดท็อปของโลก

นณริฏ พิศลยบุตร
นณริฏ พิศลยบุตร

จากที่รัฐบาลประกาศแก้หนี้ทั้งระบบ พร้อมทั้งแบ่งกลุ่ม การแก้หนี้เป็น 4 กลุ่ม เน้นการลดดอกเบี้ย พักหนี้ชั่วคราว ปรับโครงสร้างหนี้ ตัดหนี้เสียแล้วตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์มาจัดการนั้น เป็นวิธีแก้ปัญหาแบบเดิมๆ รัฐบาลทุกรัฐบาลเคยทำมาแล้ว ประสิทธิผลทำได้แบบจำกัด เพราะภาครัฐหาวิธีแก้แบบยั่งยืนไม่ได้ เพราะขาดการปรับโครงสร้าง การหารายได้ระยะยาว และการสร้างสังคมใหม่ “สังคมสร้างหนี้” โดยต้องเป็นการสร้างหนี้ที่เป็นประโยชน์ ก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ ซึ่งต้องมีการปรับกฎระเบียบที่เอารัดเอาเปรียบลูกหนี้ ไม่มุ่งเน้นจำนวนการปล่อยสินเชื่อ การคืนดอกเบี้ย เป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพการทำงาน แต่ต้องคิดให้มากกว่านั้น

ส่วนการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทนั้น มองว่าขัดหลักวิชาการ ไม่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น เพราะผลกระทบจากการหมุนในระบบเศรษฐกิจจะลดลงเรื่อยๆ การแจกเงิน เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้อง ไม่มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ไม่มีการพูดถึงนโยบายสร้างรายได้ให้มากขึ้นแต่อย่างใด

ขณะที่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น รัฐบาลต้องปรับสูตรใหม่ทั้งระบบ ไม่ควรปรับขึ้นตามการหาเสียง เพราะจะกลายเป็นประเด็นการเมืองไปทุกครั้ง ต้องเป็นการปรับสูตรค่าแรงที่เหมาะสม เป็นธรรมทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ไม่กดต่ำเกินไป ไม่ปรับสูงเกินไปจนธุรกิจอยู่ไม่ได้

“ผมยังอยากพูดถึงนโยบายส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ด้วย มองว่าเป็นเรื่องดี ต้องพยายามผลักดันให้สินค้าไทยส่งออกเพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวมาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น กำลังรอดูว่าจะผลักดันอย่างไรให้เห็นผล”

สมประวิณ มันประเสริฐ

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด

ขณะนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของรัฐบาลในการเข้ามาแก้ไขปัญหา ด้วยเหตุผลต้องการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ซึ่งล้วนเป็นมาตรการระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็นมาตรการแก้หนี้ทั้งระบบ การขึ้นค่าแรง การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท รวมถึงนโยบายฟรีวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยว

เริ่มจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต มองว่าเป็นการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้น ทำให้เศรษฐกิจเติบโตในช่วง 1-2 ปีเท่านั้น จากนั้นจะเติบโตตามศักยภาพเดิมๆ หากมองย้อนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตราว 10 % แต่หลังจากวิกฤติโควิดโตไม่ถึง 5 % นั้นหมายถึงยังโตไม่เต็มศักยภาพ ดังนั้นจึงต้องผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตเต็มศักยภาพให้ได้ โดยต้องวางแผนระยะยาว ทำให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น คนมีเงินซื้อสินค้า คนผลิตมีเงินผลิตสินค้าและจ้างแรงงานเพิ่ม เมื่อคนมีเงินก็จะกลับมาซื้อสินค้าอีก ก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

สมประวิณ มันประเสริฐ
สมประวิณ มันประเสริฐ

ปัญหาเศรษฐกิจของไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องได้รับการแก้ไขในระยะยาว เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปต้องเผชิญกับ 3 ปัจจัย คือ 1. เศรษฐกิจเติบโตช้า 2.ความเปราะบาง 3.ไม่แน่นอน โดยเฉพาะความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่คาดการณ์ไม่ได้ ไทยต้องสร้างภูมิคุ้มกันจากภายในประเทศ ด้วยการแก้ปรับเชิงโครงสร้าง

สำหรับบริบทของเศรษฐกิจไทยขณะนี้กำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง เติบโตตามศักยภาพ และเติบโตต่ำต่อเนื่อง การเติบโตในอัตราที่ต่ำนี้ ก่อให้เกิดความเปราะบางและก่อให้เกิด โดยเฉพาะหนี้นอกระบบซึ่งคนไทยติดกับดักนี้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากรายได้ต่อครัวเรือนไทยต่ำไม่พอรายจ่าย หรือรายจ่ายมากกว่ารายได้ 1.2-1.7 เท่า

จากการสำรวจพบว่า คนอยากก่อหนี้เพื่อนำไปใช้หนี้ นั่นหมายถึงประเทศกำลังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงมองว่าการแก้หนี้ของรัฐบาล เป็นมาตรการที่ดี แต่ตามหลักการแล้วต้องเน้นสร้างรายได้ด้วย สอดคล้องกับนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำซึ่งต้องเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ตามศักยภาพของแรงงาน แตกต่างกันตามความสามารถของแต่ละคนและพื้นที่ของงาน

ขณะเดียวกัน รัฐต้องสร้างกลไกให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่าย สะดวก มิใช่สะดวกเฉพาะรายใหญ่ แต่รายเล็กๆต้องเผชิญอุปสรรคจากกฎระเบียบที่ซ้ำซ้อน ต้นทุนรายเล็กสูงมาก ทำให้การทำธุรกิจของรายย่อยยากลำบาก ส่งผลให้การฟื้นตัวไม่เท่ากัน

อีกประเด็นที่สำคัญ คือการกระตุ้นการลงทุนในประเทศ นอกจากการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศมาลงทุนในไทย ซึ่งต้องใช้เวลาแล้ว ยังควรมีการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนไทยขยายการลงทุน เพิ่มกำลังการผลิต ก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ด้วย เมื่อประชาชนมีรายได้เพิ่ม จะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และจะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจในประเทศได้ด้วย.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปเศรษฐกิจ” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ