ต้องพูดว่า “วัวเคยขา ม้าเคยขี่” ก็ว่าได้ในความสัมพันธ์ระหว่าง ไทย-ญี่ปุ่น โดยเฉพาะการค้า-การลงทุนที่ผูกพันกันมาอย่างยาวนาน
ไทยที่ส่งออกรถยนต์มากที่สุดไปทั่วโลกนั้นไม่ใช่เป็นของเรานะครับ...แต่เป็นของบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนหลายยี่ห้อ
โตโยต้าอันดับหนึ่งและยี่ห้ออื่นๆอีกไม่ว่าจะเป็นฮอนด้า อีซูซุ มิตซูบิชิ มาสด้า รวมถึงรถมอเตอร์ไซค์อย่างยามาฮ่า
ที่วิ่งนัวรอบบ้านรอบเมืองในทุกวันนี้
นอกจากนั้นยังมีบริษัทที่ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ต่างๆ ยี่ห้อหนึ่งที่โด่งดังและเข้ามาลงทุนบริษัทแรกๆคือพานาโซนิค
“คูโบต้า” ก็เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ผลิตอุปกรณ์การเกษตรที่ชาวไร่ชาวนาไทยรู้จักกันดี เพราะนอกจากผลิตในไทยแล้วคนไทยก็ใช้อุปกรณ์เหล่านี้มาอย่างยาวนาน
การที่นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” และคณะเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ นอกจากพบปะกับบริษัทยักษ์ใหญ่แล้วยัง พ่วงด้วยการประชุมอาเซียน-ญี่ปุ่นก็คงสมประโยชน์หลายส่วน
เพราะจะมีการประชุมแบบทวิภาคีกับชาติอาเซียนบางประเทศด้วย
ประเด็นที่เป็นเป้าหมายหลักของไทยก็คือการเชิญชวนบริษัทรถยนต์ของญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
เน้นไปที่รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) พลังงานสะอาดที่กำลังเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อความเป็นไปของโลกปัจจุบัน
ในเอเชีย “จีน” กำลังเป็นเจ้าในเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตมากที่สุดเหนือกว่าญี่ปุ่นเพราะญี่ปุ่นเพิ่งเริ่มต้น
เนื่องจากยังติดอยู่กับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันอยู่ พูดง่ายๆว่ายังไม่พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
คือปรับตัวช้ากว่าทุกด้านทั้งรถยนต์และแบตเตอรี่ไฟฟ้า
โตโยต้าซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตรถยนต์ส่งขายมากที่สุดในโลกไม่ว่าประเทศไหนมียี่ห้อนี้ทั้งนั้นจึงมีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบรถไฟฟ้าอย่างเต็มตัว
รวมถึงยี่ห้ออื่นๆด้วย!
เวลานี้รถอีวีของจีนได้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทยแล้วและกำลังขยายให้กว้างขึ้นที่จะเข้ามาลงทุนในไทย ไม่ต่างไปจากสหรัฐฯที่นายกรัฐมนตรีได้ไปชักชวนมาอย่าง “เทสลา”
การเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้จึงถูกจังหวะพอดีเพราะญี่ปุ่นก็ต้องการที่จะเข้ามาลงทุนในไทยที่กำลังเปิดประตูอ้าซ่ารออยู่
ผมว่าเรื่องรถยนต์ไฟฟ้านั้นไม่น่ามีปัญหา
อีกเรื่องที่ไทยต้องการให้ญี่ปุ่นลงทุนก็คือโครงการอภิมหาโปรเจกต์ “แลนด์บริดจ์” ที่ระนอง-ชุมพรของไทย ซึ่งเป็นโครงการรัฐบาลตั้งแท่นรอไว้แล้ว
ซึ่งญี่ปุ่นก็ให้ความสนใจเช่นเดียวกันจึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะเข้ามาลงทุนในไทยหากมีการพูดจาตกลงกันได้
เพราะญี่ปุ่นในฐานะประเทศที่คุ้นเคยกับไทยเป็นอย่างดีและเรียนรู้สภาพความเป็นไปอย่างลึกซึ้งที่มีต่อกัน
ทำให้สามารถตัดสินใจได้ง่ายหากได้ประโยชน์คุ้มค่า
เม็ดเงิน 1 ล้านล้านบาทสำหรับประเทศนี้คงไม่มากมายอะไรนัก อีกทั้งถ้าโครงการสำเร็จเขาก็จะได้ประโยชน์ด้วย
หวังว่าเซลส์แมนคงจะได้งานเป็นเนื้อเป็นหนังเสียที!
“สายล่อฟ้า”
คลิกอ่านคอลัมน์ “กล้าได้กล้าเสีย” เพิ่มเติม