สนค.ฟันธงไม่ควรขึ้นค่าไฟฟ้า เสี่ยงทำให้เงินเฟ้อพุ่ง-ต้นทุนการผลิตเพิ่ม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สนค.ฟันธงไม่ควรขึ้นค่าไฟฟ้า เสี่ยงทำให้เงินเฟ้อพุ่ง-ต้นทุนการผลิตเพิ่ม

Date Time: 16 ธ.ค. 2566 06:06 น.

Summary

  • สนค.วิเคราะห์ขึ้นค่าไฟฟ้าแบบก้าวกระโดด เสี่ยงทำให้เงินเฟ้อและต้นทุนเพิ่มขึ้น โรงงานผลิตน้ำแข็งต้นทุนขึ้นพรวด โรงแรมร้องจ๊าก แนะทยอยปรับขึ้นอย่างเหมาะสม และเลี่ยงปรับขึ้นสำหรับภาคธุรกิจช่วงที่ต้นทุนหลายด้านปรับขึ้น

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน นโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้วิเคราะห์ “ผลกระทบของการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปและต้นทุนในระบบเศรษฐกิจ” พบว่า หากปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเป็น 4.68 บาทต่อหน่วย เท่ากันทั้งครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมจากระดับ ปัจจุบัน ซึ่งเฉลี่ยที่ 3.99 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 17.29% จะส่งผลกระทบในหลากหลายมิติ ทั้งเงินเฟ้อสูงขึ้น ต้นทุนผู้ประกอบการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อผู้ประกอบการที่มีข้อจำกัดอยู่แล้ว เนื่องจากค่าไฟฟ้าเป็นปัจจัยการผลิตต้นน้ำที่สำคัญ หากมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจะส่งผ่านผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งกลางน้ำและปลายน้ำ ส่งผลกระทบทางตรงและทางอ้อมเป็นวงกว้าง

ทั้งนี้ ในมิติของต้นทุนไฟฟ้าเป็นต้นทุนภาคการผลิตและบริการ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ โดยมีสัดส่วน 2.51% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด โดยสาขาการผลิตที่ใช้ไฟฟ้าเป็นต้นทุนสูง ได้แก่ การผลิตน้ำแข็ง 29.88% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมดโรงแรมและที่พักอื่น 17.12% สถานที่เก็บสินค้าและการเก็บสินค้า 16.90% ประปา 14.30% ผลิตซีเมนต์ 12.13% ปั่นด้าย หีบฝ้าย และเส้นใยประดิษฐ์ 12.11% ตามลำดับ ขณะที่ในมิติของสินค้าที่ครัวเรือนบริโภคนั้น ค่าไฟฟ้ามีสัดส่วนถึง 3.90% ของค่าใช้จ่ายครัวเรือน

ดังนั้น การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าทั้งระบบ (ภาคการผลิต ภาคบริการ และภาคครัวเรือน) 17.29% ย่อมส่งผลกระทบต่อทั้งต้นทุนการผลิตและการบริโภคของครัวเรือนทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยภาคการผลิตและบริการจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 1.65% และภาคครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 0.66% ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น จากคาดการณ์เดิม 0.66% และมีโอกาสเพิ่มขึ้นอีกถึง 1.62% หากส่งผ่านต้นทุนการผลิตและบริการไปยังสินค้าขั้นสุดท้ายในระยะต่อไป โดย 5 สินค้าและบริการ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากสุด ประกอบด้วย น้ำแข็ง ค่าห้องพักโรงแรม, น้ำประปา, เสื้อผ้า, ผ้าอ้อมเด็ก

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงทำให้ค่าเช่าบ้านและอาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นผลจากค่าเช่าพื้นที่หรือค่าเช่าตลาดที่เพิ่มขึ้น  นอกจากนี้ ควรเฝ้าระวังและติดตามภาคธุรกิจที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบค่อนข้างสูงจากการปรับขึ้น ค่าไฟฟ้า โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหรือบริการที่มีการแข่งขันสูง มีสภาพคล่องต่ำ การเติบโตทางรายได้ และผลประกอบการยังไม่ฟื้นตัว รวมถึงมีผู้ประกอบการรายย่อยเป็นจำนวนมาก เช่น โรงแรม รีสอร์ตและห้องชุด เกสต์เฮาส์ การผลิตน้ำแข็งเพื่อการบริโภค การทอผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ วิสาหกิจขนาดย่อย การผลิตจักรยาน ดังนั้น การปรับเพิ่มค่าไฟฟ้า ย่อมเพิ่มความเสี่ยงให้กับกลุ่มธุรกิจเหล่านี้มากขึ้น

 “การปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ทั้งภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจในอัตราก้าวกระโดด และใช้อัตราค่าไฟดังกล่าวต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี จะสร้างผลกระทบเชิงลบต่อประชาชน และระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การทยอยปรับขึ้นอย่างเหมาะสม และรัฐบาลมีมาตรการลดค่าครองชีพอื่นๆ จะช่วยลดภาระประชาชน ขณะที่ควรหลีกเลี่ยงการปรับค่าไฟฟ้าสำหรับภาคธุรกิจในช่วงที่ต้นทุนอื่นๆกำลังทยอยปรับเพิ่มขึ้น เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ และดอกเบี้ย เป็นต้น”

น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กล่าวว่า ธพ.เตรียมนำเสนอ ครม.เพื่อรับทราบแนวทางการปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลโดยปรับลดชนิดน้ำมันดีเซล เหลือ 2 ชนิด คือ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ที่เป็นน้ำมันฐานของประเทศ ผสมไบโอดีเซล (B100) อยู่ที่ 7% ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงสุดที่ใช้กับน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ที่ค่ายรถยนต์ ยอมรับและไม่ส่งผลกระทบต่อเครื่องยนต์ และให้มีน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 เป็นน้ำมันทางเลือก เริ่ม 1 พ.ค. 67

สำหรับการปรับลดชนิดน้ำมันดังกล่าวจะไม่ส่งผลให้ปริมาณการใช้ปาล์มน้ำมันลดลง เนื่องจากน้ำมันดีเซลในปัจจุบันมีสัดส่วนผสมไบโอดีเซลอยู่ที่ 7 % อยู่แล้ว โดยใช้ไบโอดีเซลอยู่ที่ 4.33 ล้านลิตรต่อวัน และการใช้น้ำมันปาล์มอยู่ที่ 3.77 ล้านกิโลกรัม (กก.) ต่อวัน และคาดว่าปีหน้าจะมีการใช้ไบโอดีเซล อยู่ที่ 4.66 ล้านลิตรต่อวัน และการใช้น้ำมันปาล์มอยู่ที่ 3.88 ล้าน กก.ต่อวัน ตามปริมาณการใช้น้ำมันดีเซล ที่เพิ่มขึ้น และ ธพ.จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำมันปาล์มหากได้รับผลกระทบ ส่วนการใช้น้ำมันเฉลี่ย 10 เดือนปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) อยู่ที่ 152.17 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.3 %ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ แบ่งเป็นเบนซิน 31.50 ล้านลิตรต่อวัน ดีเซล 68.59 ล้านลิตรต่อวัน น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ อยู่ที่ 13.17 ล้านลิตรต่อวัน.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ