แบงก์ชาติยํ้าเศรษฐกิจฟื้นต่อเนื่อง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

แบงก์ชาติยํ้าเศรษฐกิจฟื้นต่อเนื่อง

Date Time: 15 ธ.ค. 2566 06:20 น.

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

แม้ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน จะบอกกับสื่อว่า ปีหน้า 2567 หนักใจเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก อยากแจกเงินดิจิทัล 5 แสนล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ แบงก์ชาติ หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ยังยืนยันด้วยข้อมูลและตัวเลขว่า เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุด ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.5 และคาดว่า จีดีพี ปี 2567 จะขยายตัวได้ร้อยละ 3.2 ปี 2568 จะขยายตัวร้อยละ 3.1 สินเชื่อต่างๆก็ทยอยกลับเข้าสู่ระดับปกติ แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าจะมีแนวโน้มการขยายตัวตํ่าที่ร้อยละ 2.6 ในปี 2567 ร้อยละ 2.7 ในปี 2568 ทำให้การส่งออกของไทยฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ก็ตาม

รายงานการประชุมของ กนง. แบงก์ชาติ ก็เหมือน รายงานการประชุมของ Fed ธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีการอธิบายถึงรายละเอียดและเหตุผลในเรื่องอัตราดอกเบี้ย

ประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการ กนง.อภิปรายกันมากและเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังอยู่ในทิศทางการฟื้นตัว ทั้งในกรณีรวมและไม่รวม “โครงการแจกเงินดิจิทัล 5 แสนล้านบาท” ของรัฐบาล เศรษฐกิจปีหน้ามีแนวโน้มขยายตัวด้วยแรงขับเคลื่อนที่ “สมดุล” มากขึ้น จากการส่งออกและการผลิตที่ขยายตัว ภาคการท่องเที่ยวก็ฟื้นตัวต่อเนื่อง ตลาดแรงงานก็ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็ปรับขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี แต่ความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าก็มีสูง โดยเฉพาะการส่งออก ที่อาจได้รับผลกระทบจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

กนง.เห็นว่า การประเมินจีดีพีไทยในอนาคตมีความท้าทายมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลของ โครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ การเกิดขึ้น ของบริการในรูปแบบใหม่ การบริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ที่เข้ามาทดแทนช่องทางเดิม ส่งผลให้การวัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีความท้าทายมากขึ้น กนง.จึงให้ความสำคัญกับการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น เพื่ออธิบายแนวโน้มเศรษฐกิจให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ประเด็นสำคัญที่ กนง.เห็นว่าเป็นปัญหาก็คือ โครงสร้างเศรษฐกิจที่ฉุดรั้งศักยภาพของเศรษฐกิจไทย ควรแก้ไขด้วยนโยบายด้านอุปทาน เพื่อปูรากฐานให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ในอัตราที่ดีและยั่งยืนในระยะยาว อาทิ (1) โครงสร้างการผลิตโลกที่เปลี่ยนไป เช่น นโยบายของจีนที่หันมาเน้นการผลิตในประเทศ ทำให้ไทยได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกไม่มากเท่าในอดีต (2) การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี อาจส่งผลให้ ไทยหลุดออกจากห่วงโซ่การผลิตสมัยใหม่ (3) การที่แรงงานไทยไม่สามารถปรับตัวเพื่อรองรับกระแสโลกใหม่ได้อย่างทันกาล ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเหล่านี้ บั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของไทย และอาจทำให้ภาคอุตสาหกรรมที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญทางเศรษฐกิจในอดีต ไม่สามารถเติบโตได้ในระดับสูงเช่นเดิม

กนง. เห็นว่า โจทย์สำคัญของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปก็คือ การเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น การลงทุนใน โครงสร้างพื้นฐาน การยกระดับทักษะแรงงาน การผลักดันให้ธุรกิจปรับตัวเพื่อรองรับกระแสโลกใหม่ ทั้งหมดนี้ รัฐบาลยังไม่ได้เร่งคิดเร่งทำเพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน ไปคิดแต่เรื่องแจกเงินเรื่องแก้หนี้ ถ้า “รายได้ไม่เพิ่ม” หนี้ก็ไม่มีทางหมด

สิ่งที่ผมอยากเสนอนายกฯเศรษฐาไว้ตรงนี้ก็คือ ให้เร่งคิดเรื่องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยรับกระแสโลกใหม่ รัฐบาลต้องขยันสร้างกิจกรรมที่กระตุ้นเศรษฐกิจในวงกว้าง ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนก็คือ การจัดแสดงคอนเสิร์ตของเจย์ โจว ราชาเพลงป๊อบแมนดารินที่ได้ชื่อว่า King of Mandopop เมื่อ 8–9 ธันวาคม ที่สนามราชมังคลาฯ คุณสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีการท่องเที่ยวฯ เปิดเผยว่า คอนเสิร์ต เจย์ โจว ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยว ไทยเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 1 มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามากว่า 1 แสนคน ในสัปดาห์เดียว เพียงคอนเสิร์ตเดียวก็ช่วยแก้ภาพลบไทยกับคนจีน ไปได้เกือบสิ้นเชิง.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ